Sunday, March 18, 2012

อริยมรรคมีองค์ 8



มรรค = อริยมรรค = มัชฌิมาปฏิปทา = มรรคแปด = ทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ = ทางสายกลาง
แนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตหรือกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์
เรียกว่า อริยมรรค แปลว่าทางอันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลักไม่อ่อนแอ จนถึงกับ
ตกอยู่ใต้อำนาจ ความอยากแห่งใจ แต่ก็ไม่แข็งตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือด
แห้งจากความสุขทางกาย เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางดำเนินสาย
กลาง ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะเช่นสายดนตรีที่เทียบเสียงได้ที่แล้ว
คำว่ามรรค แปลว่าทาง ในที่นี้หมายถึงทางเดินของใจ เป็นการเดินจากความทุกข์
ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วย
อำนาจของอวิชชา
การฝึกฝนให้ดำเนินตามมรรคแปด เราเรียกว่า ไตรสิกขา
  การฝึกอบรมเริ่มที่ความประพฤติหรือการแสดงออกภายนอกกายและวาจา[ศีล หรือเรียกว่า อธิศีลสิกขา] แล้วประณีตขึ้นมาสู่การอบรมจิต [สมาธิ หรือเรียกว่า อธิจิตตสิกขา]
จนถึงระดับสุดท้าย คือ  การทำความรู้ความเข้าใจและการหยั่งเห็นความจริง [ปัญญา หรือ เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา]ให้แก่กล้า  จนพ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้
ไตรสิกขา นี้  เมื่อนำมาแสดงเป็นคำสอนที่เป็นหลักใหญ่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์จะนำมาสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชน คือ "โอวาทปาฏิโมกข์"
   1.สพฺพปาปสฺส  อกรณํ     การไม่ทำความชั่วทั้งปวง (ศีล)
        2.กุสลสฺสูปสมฺปทา           การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม (สมาธิ)
        3.สจิตฺตปริโยทปนํ            การทำจิตของตนให้ผ่องใส (ปัญญา)
    [จากพระไตรปิฎก  ที.ม. 10/54/57]
ขยายความ อริยมรรคมีองค์8 ในแต่ละหัวข้อ [ดูในวงเล็บในแต่ละหัวข้อว่าหมวดใดเป็นศีล  สมาธิ ปัญญา]
ข้อมูลบางส่วนจากพระไตรปิฎก[เล่มที่14 หน้า 421 ข้อ375]
และจากหนังสือพุทธธรรม โดยพระธรรมปิฎก
1.สัมมาทิฎฐิ(ปัญญา) คือ
  "ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาทิฎฐิ คืออะไร ?
     ความรู้ในทุกข์  ความรู้ในทุกขสมุทัย  ความรู้ในทุกขนิโรธ  ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  นี้เรียกว่า สัมมาทิฎฐิ"
[ที.ม.10/299/348 ,ม.มู.12/149/123,สํ.ม.19/34/10 ,ม.มู.12/115/88, อภิ.วิ.35/163/136]
2.สัมมาสังกัปปะ(ปัญญา)
  การดำริ  การคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งต่างๆอย่างถูกต้อง  ไม่เอนเอียง ยึดติด ขัดผลัก 
  สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง
 2.1.เนกขัมมสังกัปป์  หรือ เนกขัมมวิตก  คือ การดำริที่ปลอดโลภะ   ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งออกจากกาม    ไม่หมกมุ่นพัวพันติดใคร่ในสิ่งเสพสนองความอยากต่างๆ
ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว  ความคิดเสียสละ  ความคิดที่เป็นกุศลทุกอย่าง[เนกขัมมธาตุ=กุศลธรรมทั้งปวง  ]
 2.2.อพยาบาทสังกัปป์  หรือ อพยาบาทวิตก คือ  การดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง  ขัดเคือง   หรือใช้คำว่า เมตตา เป็นความปรารถนาดี  ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข  จัดเป็นความคิดที่ปลอดโทสะ
 2.3.อวิหิงสาสังกัปป์  หรือ อวิหิงสาวิตก  คือ ความคิดที่ปลอดจากการเบียดเบียน  ปราศจากความคิดที่จะก่อทุกข์ให้ผู้อื่น  หรือใช้คำว่า กรุณา เป็นความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ 
การทำให้เกิดสัมมาสังกัปปะได้  ผู้นั้นต้องใช้โยนิโสมนสิการ คือ การคิดอย่างแยบคาย 
3.สัมมาวาจา(ศีล)
  "ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาวาจาเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาวาจา คือ
    1.มุสาวาทา เวรมณี     เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
    2.ปิสุณาย  วาจาย  เวรมณี   เจตนางดเว้นจากวาจาส่อเสียด
    3.ผรุสาย  วาจาย  เวรมณี    เจตนางดเว้นจากวาจาหยาบคาย
    4.สมฺผปฺปลาปา  เวรมณี   เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
"
4.สัมมากัมมันตะ(ศีล)
  "ภิกษุทั้งหลาย  สัมมากัมมันตะ  เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ คือ
    1.ปาณาติปาตา  เวรมณี    เจตนางดเว้นจากการตัดรอนชีวิต
    2.อทินนาทานา  เวรมณี    เจตนาการถือเอาที่เขามิได้ให้
    3.กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี   การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย"
5.สัมมาอาชีวะ(ศีล)
 "ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาอาชีวะเป็นไฉน?  นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ คือ  อริยสาวกละมิจฉาอาชีวะเสีย   หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ"
[มิจฉาอาชีวะคือ  การโกง (หรือหลอกลวง) การประจบสอพลอ  การทำเลศนัยใช้เล่ห์ขอ  การบีบบังคับขู่เข็ญ   ข้อมูลจาก ม.อุ.14/275/186  ฉะนั้นการประกอบสัมมาอาชีวะคือ การประกอบอาชีพที่ทำตรงกันข้ามกับมิจฉาอาชีวะ]

6.สัมมาวายามะ(สมาธิ)
  "ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาวายามะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ คือ  ภิกษุในธรรมวินัยนี้
   1.สร้างฉันทะ  พยายาม  ระดมความเพียร  คอยเร้าจิตไว้  มุ่งมั่นเพื่อป้องกัน อกุศลอันเป็นบาป  ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
   2.สร้างฉันทะ  พยายาม ระดมความเพียร  คอยเร้าจิตไว้  มุ่งมั่นเพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาป  ที่เกิดขึ้นแล้ว
   3.สร้างฉันทะ  พยายาม  ระดมความเพียร  คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่นเพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด  ให้เกิดขึ้น
   4.สร้างฉันทะ   พยายาม  ระดมความเพียร  คอยเร้าจิตใว้  มุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่  ไม่เลือนหาย  เพื่อความไพบูลย์เจริญเต็มเปี่ยมแห่กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
 
"[ข้อมูลจากพระไตรปิฎก  ที.ม.10/299/348 ,ม.มู.12/149/124,ม.อุ.14/704/454,อภิ.วิ.35/168/137]
7.สัมมาสติ  [อ่านสัมมาสติอย่างละเอียดได้ใน คลิ๊กที่นี้]
   "ภิกษุทั้งหลาย   สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    1.พิจารณาเห็นกายในกาย  มีความเพียร   มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
    2.พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย  มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
    3.พิจารณาเห็นจิตในจิต  มีความเพียร  มีสัมปชัญญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
    4.พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย   มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
"(จากพระไตรปิฎก  10/299/349,ม.มู. 12/149/124,ม.อุ.14/704/454)
 ขยายความในส่วนสัมมาสติ  ตามคำจำกัดความจากในพระสูตร ก็คือหลักธรรมที่เรียกว่า  สติปัฎฐานสี่ นั่นเอง

8.สัมมาสมาธิ 
  "ภิกษุทั้งหลาย  สมาธิภาวนา(การเจริญสมาธิ) มี 4 อย่าง ดังนี้ คือ
  1.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  เป็นไปเพื่อทิฎฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)
  2.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว   เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ
  3.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ
  4.สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  เป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย "
[อง.จตุกฺก  21/41/57, ที.ปา.11/233/233]

จากพุทธพจน์จะเห็นว่า  ประโยชน์ของสมาธิที่ต้องการในพุทธธรรมคือ ภาวะจิตที่เรียกว่า "นุ่มนวล  ควรแก่งาน" ซึ่งนำมาใช้ปฏิบัติการในการทำให้เกิดปัญญาต่อไป
ส่วนการใช้สมาธิและฌานเพื่อประโยชน์อื่นเช่น มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  ถือเป็นผลพลอยได้  และในบางกรณีกลายเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุน
เช่น ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิเพื่อต้องการอิทธิฤทธิ์  ผู้นั้นถือว่า คิดผิด [ไม่ปฏิบัติตามสัมมาสังกัปปะ] เพราะอิทธิฤทธิ์อาจก่อให้เกิดผลร้ายได้ เช่น หมกมุ่น ลำพองในฤทธิ์ หลงเพลินทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  อาจพอกพูนกิเลสจนถึงขนาดไม่สามารถบรรลุจุดหมายของพุทธธรรมคือไม่สามารถบรรลุ พระนิพพานได้เลย
พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในกรณีที่ต้องกำราบผู้ลำพองในฤทธิ์  ให้หมดพยศ พร้อมที่จะฟังธรรม
ส่วน ผู้ที่ปฏิบัติจนได้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมแล้ว  และได้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วย ก็ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษที่พลอยได้ไป และใช้เป็นเครื่องพักผ่อนอย่างสุขในโอกาสว่าง อย่างที่เรียกว่า ทิฎฐธรรมสุขวิหาร  ยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงปลีกพระองค์ไปอยู่ในที่สงัดเป็นเวลานานๆ เพื่อเจริญสมาธิก็เคยมี
ฉะนั้นย้ำว่าหากยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง  หากหลงเพลินในสมาธิ  อาจจะกลายเป็นความประมาทและกีดกั้นความก้าวหน้าในการปฏิบัติ  และอาจละเลยความรับผิดชอบในส่วนรวม
ระดับของสมาธิ
  1.ขณิกสมาธิ   คือ สมาธิชั่วขณะ  ซึ่งคนสามัญทั่วไปใช้ในการปฏิบัติกิจการงาน    ในส่วนของสัมมาสมาธิคือ  การนำขณิกสมาธิมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ
  2.อุปจารสมาธิ คือ  สมาธิเฉียดๆที่จวนจะแน่วแน่  ซึ่งหากเป็นสัมมาสมาธิคือ การนำอุปจารสมาธิมาใช้ในการวิปัสสนากรรมฐาน ที่เรียกว่า  วิปัสสนาสมาธิ
  3.อัปปนาสมาธิ คือ   สมาธิที่แน่วแน่แนบสนิท  ที่เรียกว่า เป็นสมาธิในขั้นฌาน ซึ่งเป็นขั้นที่สำเร็จในการเจริญสมาธิ  ซึ่งหากนำมาใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะเรียก สัมมาสมาธิ
     ฌานมีหลายขั้น  ยิ่งสูงขึ้นไป องค์ธรรมก็ยิ่งลดน้อยลงไป 
     ฌานแบ่งเป็น  2 ระดับคือ รูปฌาน 4และอรูปฌาน รวมเรียกว่า ฌาน8 หรือ สมาบัติ8
     3.1.รูปฌาน4 ได้แก่
         3.1.1.ปฐมฌาน  หรือ ฌานที่ 1 มีองค์ประกอบ 5 ประการคือ   วิตก วิจาร ปีติ  สุข เอกัคคตา
         3.1.2.ทุติยฌาน  หรือ ฌานที่ 2 มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ  ปีติ สุข เอกัคคตา
         3.1.3.ตติยฌาน  หรือ ฌานที่ 3 มีองค์ประกอบ 2 ประการคือ  สุข เอกัคคตา
         3.1.4.จตุตถฌาน หรือ ฌานที่4 มีองค์ประกอบ 2 ประการคือ  อุเบกขา  เอกัคคตา
     3.2.อรูปฌาน 4 ได้แก่
         3.2.1.อากาสานัญจายตนะ[ฌานที่กำหนดอากาศ -space อันอนันต์]
         3.2.2.วิญญาณัญจายตนะ [ฌานที่กำหนดวิญญาณเป็นอันอนันต์]
         3.2.3.อากิญจัญญายตนะ[ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ]
         3.2.4.เนวสัญญานาสัญญายตนะ[ฌานที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่  ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช้]
 
ผล สำเร็จจากสมาธิเรียกว่า "สมถะ" สำหรับปุถุชนจะได้จิตที่มีสมาธิสูงสุดเพียงแค่เนวสัญญานาสัญญายตนะเท่า นั้น   แต่หากเป็นผู้บรรลุธรรมที่สำเร็จทั้งฝ่ายสมถะและวิปัสสนา  เป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์  สามารถถเข้าถึงภาวะที่ประณิตสูงสุดอีกขั้นคือ "สัญญาเวทยิตนิโรธ" หรือนิโรธสมาบัติ
เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาดับ  คือทั้งสัญญาและเวทนาหยุดปฏิบัติหน้าที่   เป็นความสุขขั้นสูงสุดในฝ่ายสมถะ



ที่มา http://www.mattaiya.org/


No comments:

Post a Comment