Sunday, March 18, 2012

ชีวิตนี้ไม่มีตัวตน ตอน 1 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

นมตถุ  รตนตตยสส   ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย  ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะก็พึงตั้งใจฟังด้วยดี   พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะไว้คือได้บอกกล่าวถึงสัจธรรม  ธรรมที่เป็นจริง  ว่าที่จริงแล้วในสังขารคือร่างกายและจิตใจของทุกชีวิตนี้ โดยที่แท้แล้วไม่มีตัวตน  ทรงแสดงว่าความเป็นตัวตนนี่ไม่มี   ปุถุชนก็จะมีความรู้สึกว่า  เอ๊ะ  ความรู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่  แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าไม่มีตัวตน  ไม่มีตัวตนที่จะเป็นเราเป็นของเรา  เป็นของที่เที่ยงแท้และบังคับบัญชาได้  ไม่มี   ไม่มีตัวตนแล้วมันมีอะไร    มันก็มีธรรมชาติอยู่  มีสิ่งธรรมชาติซึ่งแยกประเภทออกไปเป็นห้าอย่างด้วยกัน  มีธรรมชาติรวมกันประชุมกันอยู่ห้าอย่างด้วยกัน  แต่ทั้งห้าอย่างนี้ไม่ใช่ตัวตน
         
ธรรมชาติห้าอย่างนั้นก็มีโดยที่เป็นเพียงธรรมชาติ  คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัย  ไม่ใช่ตัวตน    ร่างกายที่ว่าเป็นขาเป็นแขนเป็นศีรษะเป็นตาเป็นหูเป็นจมูกเป็นลิ้นของเรา  หรือว่าตัวเรานั้นน่ะ  มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา   แต่มันก็มีธรรมชาติอยู่มีความจริงอยู่ มีสัจจะความจริงอยู่   ได้แก่อะไรบ้าง  ก็ได้แก่ รูปต่าง     ธรรมชาติที่เรียกว่ารูป  ก็มี ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  หรือส่วนที่เป็นประสาท ประสาทกาย    เหล่านี้คือธรรมชาติไม่ใช่ตัวตนเราเขา  ส่วนที่รับการกระทบ  รับโผฏฐัพพารมณ์ คือเครื่องกระทบทางกาย   อันนั้นก็เรียกว่าประสาทกาย  กายปสาท  ก็ไม่ใช่ตัวตน    ดินน้ำลมไฟ ซึ่งเป็นรูปเล็ก    จากเล็ก ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเกาะกลุ่มกัน  จากหลาย กลุ่มรวม กันมาก ขึ้น ก็จึงออกมาเป็นสัณฐานชิ้นใหญ่ขึ้น   เป็นอวัยวะชิ้นต่าง   แต่รูปแต่ละรูปนั้นมันเป็นเพียงจุดย่อยนิด มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  เป็นปรมาณูเล็ก   แต่มันเกาะรวมกัน
         
อุปมาเหมือนกับว่าศาลาหลังนี้   เสาแต่ละต้นความจริงก็เอาเม็ดทรายต่าง เอาหินเอาทรายเอาน้ำเอามารวม กัน  ทรายแต่ละเม็ด เม็ดเล็กๆๆๆ เอามา   แต่ว่ารูปในกายของสัตว์ทั้งหลายมันเล็กกว่านั้นอีก  แต่ว่ามันเกาะกลุ่มกันหลาย กลุ่ม  หลาย กลุ่ม ก็ออกมาเป็สัณฐานรูปร่าง   แต่ละรูปย่อยลงไปนั้นมันเป็นธรรมชาติ  เป็นธาตุดินน้ำลมไฟ  ดินก็สักแต่ว่าดิน  น้ำไฟลมก็สักแต่ว่าน้ำไฟลม  มันไม่ใช่ตัวตนเราเขา    แต่ว่าปถุชนนั้นก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตนเป็นเราขึ้นมา  จึงว่าขาของเรา  หรือว่าขานั่นน่ะคือเรา  หรือว่าขาคือของเรา   แขนศีรษะตาหูจมูกลิ้นกายคือเรา  หรือว่าสิ่งนั้นน่ะคือเรา  หรือเราคือตาหูจมูกลิ้นกาย  หรือว่าตาหูจมูกลิ้นกายนี่อยู่ในเรา  หรือว่าเราน่ะไปอยู่ในตาหูจมูกลิ้นกาย    นี้คือความเห็นผิด   นี้คืออุปาทานความเห็นผิด  ความยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิดอยู่  ก็ต้องรับทราบว่าที่เห็นผิดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นเราอยู่นี้ให้รู้ว่าเห็นผิดอยู่  ยึดผิดอยู่  ด้วยความหลงอยู่  มีอวิชชาครอบงำ มีโมหะคืออวิชชาครอบงำ  แล้วก็มีทิฏฐิความเห็นผิด  มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นอยู่ ที่ติดมาไม่รู้กี่ภพชาติ    เกิดมาชาตินี้เป็นเด็กก็ติดมาเรื่อยจนถึงปัจจุบันนี้  แล้วก็จะต้องไปต่อไปในอนาคต   ถ้าไม่ได้เจริญวิปัสสนาทำลายความเห็นผิดออกไปก็จะหลงผิดอย่างนี้เรื่อยไป    ไม่รู้ความจริง  จะไม่ได้เห็นความจริง  ไม่ได้เห็นสัจธรรม

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นความรู้สึก  เป็นความรู้สึกที่เป็นส่วนเข้าไปรู้สึกในอารมณ์ในสัมผัส  อย่างเช่น  มีเครื่องสัมผัสคือเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงมาสัมผัสที่กาย    มันก็จะมีธรรมชาติที่เป็นความรู้สึกเกิดขึ้น   ความรู้สึกนี้ปุถุชนก็ไปยึดเอาอีกว่าคือเราคือตัวตน   แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่านั่นไม่ใช่ตัวตนเป็นเพียงธรรมชาติชนิดหนึ่งที่สักแต่ว่าเกิดขึ้นทำหน้าที่รู้สึก   เข้าไปรู้สึกในอารมณ์เรียกว่า เวทนา    ก็ลองพิจารณาว่า มีไหม  รู้สึกอย่างนี้ไหม    รู้สึกว่าเวทนานั้นเป็นเราไหม   สบายกายรู้สึกว่าความสบายกายนั้นคือเราไหน   เวลาไม่สบายกายก็รู้สึกว่าไม่สบายกายน่ะคือเรา   ดีใจเสียใจเฉย ยึดไหมว่านั่นคือเรา   ถ้ามีความรู้สึกว่าเป็นเรานั้นคืออุปาทาน  มีความยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิดอยู่  ที่ติดมาอยู่นานแล้วและหลงว่าเป็นจริงอยู่   หลงผิดอยู่นะว่าความรู้ สึกนั่นคือเรา  คือหลงผิดอยู่  ยังไง ก็ยังรู้สึกยังงั้นอยู่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาให้เข้าไปเห็นแจ้งรู้แจ้ง

          เมื่อมีความรู้สึกมีความจำ จำหมาย จำไปได้ในความหมายในสัณฐานในชื่อก็ว่าเป็นเราอีก  ตัวที่ว่าจำได้หมายรู้น่ะอุปาทานมันก็ยึดว่าเป็นเราอีกเป็นตัวตนอีก    พระพุทธเจ้าก็มาแสดงมาเปิดเผยว่าไม่ใช่ตัวตน   ความจำได้หมายรู้ก็เป็นเพียงสัญญา คือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ปรากฏในลักษณะที่จำอารมณ์    สักแต่ว่าเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ในการจำอารมณ์

          อีกธรรมชาติหนึ่ง  เมื่อมีการจำได้หมายรู้ก็เกิดความรักเกิดความชัง  เกิดความชอบเกิดความไม่ชอบ  บางทีก็เกิดความกลัว  บางทีก็เกิดความตื่นเต้น    เหล่านี้ปุถุชนก็ยึดไว้ว่าเป็นเราอีก  ยึดว่าเป็นตัวตนอีก  ว่าความชอบที่เกิดความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจนั่นนะคือเราล่ะ  คือตัวเรา  เราชอบใจเราเกลียดเราโกรธ  หรือเราพอใจเรารักเราชังอยู่  เราฟุ้งซ่าน  เราสงบ  เรารำคาญใจ  เราเสียใจ   ปุถุชนจะมีอุปาทานยึดไว้เป็นเรา    แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงว่า  สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา  สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่เรียกว่าสังขาร    ท่านบัญญัติชื่อเรียกว่าสังขาร  คือเป็นธรรมชาติที่เกิดโดยธรรมชาติ  ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา    ปุถุชนไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาที่เข้าไปเห็นแจ้งก็จะมีความสำคัญมั่นหมายเป็นตัวตนเป็นเราเขา

          ธรรมชาติอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นลักษณะการรู้  การรับรู้   จะมีการน้อมรับรู้อารมณ์ต่าง เกิดการคิดเกิดการนึก  นึกน้อมคิดไปแล่นไปสู่อารมณ์ต่าง      สิ่งเหล่านี้ปุถุชนก็ยึดว่าเป็นเราเป็นตัวตน   ที่คิดที่นึกที่รับรู้อารมณ์นั่นแหละว่าเป็นเราเป็นตัวเราเป็นตัวตน    ก็ต้องรับทราบว่าพระพุทธเจ้าตรัสเปิดเผยว่า  ไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวตนหรอก   ตัวรับรู้เป็นเพียงธรรมชาติที่เรียกว่าวิญญาณ  เป็นวิณญาณเป็นจิต  เป็นวิญญาณหรือจิตที่มีลักษณะการรับรู้อารมณ์    สักแต่ว่าเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์  ไม่มีตัวตน

          มันก็มีอยู่แค่นี้เองในสังขารในชีวิตอัตภาพของสัตว์ทั้งหลายนี่  มันจะมีอยู่แค่นี้  คือมีรูปมีเวทนามีสัญญามีสังขารมีวิญญาณ    แต่รูปมันก็มีรูปต่าง    เวทนาก็มีสุข ทุกข์  เฉย    สัญญาก็จำ   สังขารนี่ก็มากหน่อย  เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสงสัย  บางทีก็ปรุงแต่งสังขารในส่วนที่ดีเกิดเมตตากรุณาศรัทธาปีติสงบ  ก็มีต่าง กันออกไป    แต่ว่าก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งอยู่ในจิตเรียกว่าสังขาร  ไม่ใช่ตัวตน    แล้วก็วิญญาณก็คือตัวรู้อารมณ์สภาพที่เข้าไปรับรู้อารมณ์    มันมีอยู่อย่างนี้

          ทำไมปุถุชนจึงมีการเข้าไปสำคัญมั่นหมายยึดถือไว้ว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา   เพราะอะไร   ก็เพราะว่ามีอวิชชาความไม่รู้ผิดบังไว้   คือไม่มีปัญญา  ไม่มีวิชาคือปัญญาจะเข้าไปรู้ไปเห็นจริง ในธรรมชาติเหล่านี้  เพราะอวิชชามันบังไว้   ทำให้หลงไปเอารูปร่างสัณฐานเป็นความจริง  เอาความหมายเป็นความจริง  เอาชื่อเป็นความจริง   หลงในสมมุติหลงในบัญญัติ ความจริงโดยสมมุติ   ก็ทำลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เพราะไม่เห็นจริงไม่รู้จริง ไม่ได้เห็นสัจธรรม

          เพราะฉะนั้นบุคคลที่ต้องการจะทำลายอุปาทานความเห็นผิดความยึดผิดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเกิดกรรม   มีกิเลสก็ทำให้เกิดการกระทำบาป   หรือว่าเมื่อกิเลสเกิดขึ้นความเร่าร้อนความทุกข์ทรมานเดือดเนื้อร้อนใจก็เกิดขึ้น   มีตัณหาก็สร้างภพสร้างชาติต่อไป   สร้างขันธ์ห้าต่อไป  ที่จะมาเสวยวิบากกรรมทนทุกข์ทรมานอีกไม่จบสิ้น    บุคคลที่หวังจะตัดกระแสแห่งกิเลสแห่งความทุกข์แห่งวัฏฏสงสารแล้วก็ต้องมาปฏิบัติตามหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้   ก็คือต้องเจริญวิปัสสนา  ต้องเจริญสติปัฏฐานต้องเจริญวิปัสสนา   เพื่อให้เกิดปัญญาเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงที่พระองค์ทรงตรัสว่า  ไม่มีตัวตนไม่มีเราไม่เขา  เป็นเพียงแต่รูปเวทนาสัญญาสังขารซึ่งเป็นธรรมชาติ

          รูปเวทนาสัญญาสังขารนั้นน่ะมันก็ไม่ใช่ชื่อ  ที่เอามาพูดนี้ก็เป็นเพียงชื่อ    ตัวรูปจริง มันอีกเรื่องหนึ่ง  เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   คำพูดเหล่านี้เป็นเพียงภาษา ผู้ปฏิบัติจริง นั้นต้องเข้าไปสัมผัสไปรู้จริง กับธรรมชาติเหล่านั้น  ไม่ต้องเรียกชื่อแล้ว    ที่รู้จริงนั้นน่ะมันไม่ใช่ชื่อ  รูปไม่ใช่ชื่อ  เวทนาก็ไม่ใช่ชื่อ  สัญญาสังขารวิญญาณก็ไม่ใช่ชื่อ   ชื่อว่ารูปก็ไม่ใช่  ชื่อว่านามก็ไม่ใช่    ชื่อว่าเวทนาชื่อว่าสัญญาชื่อว่าสังขารชื่อว่าวิญญาณก็ยังไม่ใช่ตัวแท้ของธรรมชาติ   ไม่ใช่ตัวรูปตัวนาม  ไม่ใช่ตัวเวทนาสัญญา  ไม่ใช่รูปเวทนาสัญญาสังขารจริง

          ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าไปเพิก  ปฏิบัตินี่เพิกสมมติออกไป    ที่เคยติดอยู่กับรูปร่างจากความหมายจากชื่อภาษา   ปฏิบัตินี่ต้องเพิกออกไป  อย่าติดอย่ายึด  อย่าหลงอยู่กับสมมติบัญญัติปฏิบัติวิปัสสนาต้องเข้าไปรับรู้ในปรมัตถ์คือของจริง สัจธรรม    รูปนาม  รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีอยู่จริง     แต่ก็เอาบัญญัติเป็นสื่อไปก่อนก็ได้    เอาสมมุติเป็นสื่อไปก่อนเพื่อให้เกิดสมาธิ  แล้วจึงละจึงเลิกจึงเพิกสมมุติออกไป  ก็ไปรับรู้ในปรมัตถธรรมจริง ก็จะสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้จริง

          ตรงไหนที่ยึดมั่นก็รู้ไปตรงนั้นน่ะ  เอาสติเข้าไประลึกรู้ตรงไหน  ตรงนั้นยึดอะไรไว้ล่ะ   ยึดร่างกายนี้เป็นตัวตนก็ปฏิบัติรู้เข้าไปที่ร่างกาย  แต่รู้เข้าไปที่ความจริงนะ ความจริงนั้นมันไม่ใช่รูปร่าง   ถ้าไปดูที่รูปร่างอยู่มันก็ไปดูสมมุติอยู่  ไปดูสัณฐานรูปร่างแขนขาหน้าตาอวัยวะต่าง นี่คือสมมุติ   จะดูทีแรกเพื่อให้เกิดสมาธินั้นได้   ทำลึกซึ้งลงไปก็เพิกออกไป คือรับรู้ไปที่ความรู้สึกที่ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นแกนในอีกทีหนึ่ง   รูปร่างสัณฐานนี่มันมาสวมใส่   มันไม่ใช่ความจริง  มันเป็นเรื่องที่ถูกหลอก  เป็นเรื่องที่จิตมันปรุงแต่งขึ้นมา    นั่งหลับตาแล้วเห็นรูปร่างสัณฐานของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่จิตมันปรุงขึ้นมา  อาศัยสัญญาความจำไว้สัณฐานรูปร่างอย่างนี้  หลับตามันก็เลยเห็นร่างกายของตนเองนั่งอยู่  มีขาอยู่อย่างนี้แขนอยู่อย่างนี้ศีรษะหน้าตาอย่างนี้    นี่คือสมมุติแล้วก็บอกได้อีกว่านี่คือนั่ง  นี่คือนั่งแบบไหน  นี่คือนั่งพับเพียบ  นี่คือนั่งขัดสมาธิ    นั่นคือความหมาย  ความหมายที่ขยายกว้างออกไป  นั่งแล้วก็ยังไม่พอ  นั่งพับเพียบ    เรียกว่า  บัญญัติขยายบัญญัติ  ความหมายขยายความหมายออกไป  เป็นสมมุตินะ

          เวลาปฏิบัติจริง ต้องเพิกออกไป  เพิกความหมายเพิกรูปร่างสัณฐาน  เพิกชื่อออกไป  ในใจมันคอยจะเรียกชื่ออยู่เรื่อย    พอรับรู้อะไรมันก็เรียกชื่ออันนั้น  มีชื่อแต่ละสิ่งแต่ละอย่างแต่ละชิ้นแต่ละอันนี่  เรียกชื่ออยู่เรื่อยในใจเรา    เรียกชื่อจนกระทั้งเป็นประโยค  จากคำเป็นประโยค  จากประโยคก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ในใจ    ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ตัว  ดูไม่ออกว่าในใจนี้มันมีสมมุติอยู่เรื่อย  มันนึกถึงเรื่องสมมุติอยู่เรื่อย  ความหมายบ้างรูปร่างบ้าง  ซึ่งเรียกชื่ออยู่เรื่อย  มีภาษาในใจ หรือว่ามันพูดอยู่ในใจมันพากย์อยู่ในใจอยู่เรื่อย   นั้นคือสมมุติทั้งนั้น

          ทำอย่างไรที่จะปฏิบัติให้มันเข้าไปสู่ความจริง  ไม่ติดไม่ยึดอยู่ที่สมมุติบัญญัติ    ถ้าอยู่ที่สมมุติบัญญัติมันก็ยังว่าเป็นตัวเราอยู่นั่นแหละ    พอมีสัณฐานมันมีสัณฐานขึ้นมามันก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน    ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันก็บังอนัตถา  บังความเป็นไม่ใช่ตัวตนไว้   นี่ท่านจึงกล่าวว่า  คณสัญญาคือความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นจะบังอนัตตาไว้  ดูไปทีไรก็เห็นรูปร่างท่อนแขนท่อนขาสัณฐานร่างกาย    มันก็บังไม่เห็นอนัตตาก็เลยยึดเป็นตัวตนอยู่นั่นแหละ

          ปฏิบัติวิปัสสนาจริง ก็ต้องเพิกสมมุติออกไป    เข้าไปรับรู้ในสิ่งที่มีอยู่จริง ในส่วนย่อยต่าง     สิ่งที่เป็นปรมัตถ์สิ่งที่เป็นของจริง มันไม่ต้องนึกขึ้นมา  มันไม่ต้องนึกไม่ต้องไปจำอะไรที่ไหน  ไม่ต้องไปจำตำรับตำรา  ก็รู้  รู้ทันที  รู้ปัจจุบันนั้นทันที  คือเข้าไปรับรู้จริง   เพราะว่าปรมัตถ์นั้นก็มีอยู่ปรากฏอยู่จริง ที่แสดงปรากฏตัวให้รู้ให้เห็นอยู่จริง    เพียงแต่ตั้งสติเพียงแต่มีความสงบหยั่งรู้ลงไปอย่างพอดี    หยั่งรู้ลงไปเกินเลยก็เลยไปเป็นสมมุติอีก  เน้นลงไปเพ่งลงไปรูปร่างสัณฐานก็ขึ้นมาอีก (เทปหมดด้าน)

           ....จะพบว่ามีความรู้สึก มีความตึงไหม ความตึงความแข็งมีไหม  ก็รู้สึกว่ามีความตึง    ความแข็ง  แข็งมากตึงมากก็รู้สึกเจ็บรู้สึกปวดเมื่อยชา    รับรู้แค่ความรู้สึกอย่าให้เห็นเป็นรูปร่าง

ได้ไหม    สติระลึกรู้ที่ความรู้สึกแต่อย่าให้เห็นเป็นท่อนแขนท่อนขาหน้าตา  อย่าให้เห็นเป็นรูปร่างได้ไหม   อันนั้นน่ะคือปรมัตถธรรม    นั้นคือสติที่ระลึกรู้ปรมัตถธรรม ตรงต่อปรมัตถธรรม  แต่มันคอยจะปรุงเลยไปหมด  คอยจะเลยไปรูปร่าง   พอเป็นรูปร่างสัณฐานนั้นน่ะสมมุติแล้ว  ของปลอมแล้ว   เดี๋ยวความหมายมันก็จะเข้ามา  บัญญัติที่เป็นความหมาย    ฉะนั้นน้อมรู้เข้าไปที่ความรู้สึกที่ไม่ต้องเห็นรูปร่างสัณฐาน  มันก็จะไปรู้ที่เย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง    แล้วก็ไม่ต้องบอกด้วยนะว่าหย่อนตึง  ไม่ต้องบอกว่าร้อน  ไม่ต้องบอกว่าแข็งว่าอ่อน   ไม่ต้องบอกว่านี่คือรูปนี่คือนาม    ถ้าไปบอกก็คือสมมุติอีกแล้ว  คือชื่อมัน  มันจะใส่ชื่อลงไปก็เป็นสมมุติอีกแล้ว  ปรมัตถ์จริง นั่นนะความเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงนั่นนะมันเป็นปรมัตถ์อยู่แล้ว   ที่เข้าไปรับรู้ ไม่ต้องบอกว่าอะไรเป็นอะไร   พอไปบอกว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมามันก็สมมุติเข้ามาอีก 


ที่มา @ http://www.watmahaeyong.net 
สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

No comments:

Post a Comment