Sunday, March 18, 2012

รู้แจ้งเห็นจริงสิ่งปัจจุบัน ตอน 2 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)

ฉะนั้นเมื่อสติสัมปชัญญะมันส่องรู้ทั่วกายนี่ มันก็จะรับรู้ความเคลื่อนไหวในกายได้ รับรู้ในความรู้สึกนะ ความรู้สึกที่มันเคลื่อนไหวโดยมันเหมือนกับสะเทือน มันเหมือนกับสะเทือน มันเหมือนกระเพื่อม มันเหมือนกับความสั่นสะเทือนในกายนี้ เช่น ระบบการหายใจที่ทรวงอกที่หน้าท้องนี่มันจะมีความสะเทือนมีความกระเพื่อมมีความสั่นไหว ไอ้ตัวที่รู้สึกไหวสั่นไหวสะเทือนน่ะคือปรมัตถ์ แต่ถ้าฉายออกไปเป็นทรวงอกเป็นหน้าท้องนี่เป็นสมมุติแล้ว

ถ้าเป็นรูปร่างขึ้นมาให้รู้ว่าคือสมมุติ ก็น้อมรู้เข้าไปสู่ความรู้สึกทิ้งสมมุติออกไป ถ้าเรานั่งอยู่อย่างนี้บางครั้งเราก็ต้องขยับกาย ตอนขยับกายไปก็ให้รู้ทันที รู้ความรู้สึกที่มันขยับเคลื่อนไหว เรียกว่าหนังตากระพริบก็รู้ความรู้สึกที่หนังตา ปากเราเม้มก็รู้ความรู้สึกที่ปากที่เม้ม มีความตึง เราไปจ้องดูมันอาจจะเป็นภาพมโนภาพเป็นสัณฐานของใบหน้าของปากของตาของหู นั่นคือสมมุติ เราก็น้อมรู้เข้าไปสู่ความรู้สึก

อีกส่วนหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาสังเกตก็คือตรงจุดกำเนิดของการปรุงแต่ง เริ่มต้นที่มันจะนึกคิดออกไปน่ะ จิตที่ว่าคิดไป ๆ น่ะ มันเริ่มต้นของมันต้องรู้ให้ทัน ฝึกการรู้ทันตรงที่มันเริ่มจะคิด ๆ นั่นแหละ ถ้ารู้ตรงนี้แล้วก็จะไม่มีการคิดเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวอะไรได้เลย พอเริ่มจะปรุงขึ้นมาก็รู้เสียแล้ว พอรู้เสียแล้วมันก็สลาย สลายสมมุติไม่สืบต่อเป็นเรื่องเป็นราว ไอ้ตัวที่จุดกำเนิดของการจะนึกของการจะคิด มันก็อยู่ที่จิต จิตคือตัวรู้นี่ ขณะที่สติสัมปชัญญะไปรับรู้ที่ตัวรู้อยู่จะเห็นว่าเดี๋ยวมันจะปรุงขึ้นมาแล้ว มันจะนึก มันจะนึก ๆๆ พอนึกตัวนึกมันก็จะรับความหมายรับสัณฐานรับภาษาพูด

ก็ทำสติรู้ลักษณะการนึกการตรึกนั่นแหละ นั้นคือปรมัตถ์ ไอ้ตัวที่นึกตัวที่ตรึกเป็นตัวปรมัตถ์ แต่พอมันนึกมันตรึกมันจะไปรับอารมณ์ที่เป็นสมมุติ สติดูตรงที่นึกตรงที่ตรึก พอรู้ปุ๊บสมมุติก็สลายหายไป การที่จะนึกคิดอะไรมันก็หมดไป ไปสู่ความว่าง ว่างลงไป ใจมันจะว่างลงไป แต่เดี๋ยว ๆ มันก็นึกได้อีก มันจะนึกขึ้นมาอีกก็รู้อีก ฉะนั้นบางครั้งท่านจึงกล่าวว่าการปฏิบัติเหมือนกับการเข้าไปสู่การทำลายความปรุงแต่ง หยุดการปรุงแต่ง จริง ๆ ไม่ได้ไปบังคับอะไรหรอกก็คือไปรู้มันไปรู้ให้ทัน รู้ทันแลัวมันไม่ปรุงต่อไปหรอก รู้ทันแล้วก็หายไป รู้ทันแล้วก็หายไป

ฉะนั้นให้มีสติหยั่งรู้ บางขณะก็รู้ความรู้สึกที่กาย กายตึงรู้สึกตึง ตึงบ้างแข็งบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกส่วนต่าง ๆ ของกาย ตึงที่ขาที่หลังที่ใบหน้าลำตัวนี่ ตึง ๆ น่ะ คือปรมัตถ์ จะรู้ความรู้สึกตึง ขณะที่รู้ความตึงส่วนใดก็ตามจะเห็นว่ามันจะมีอย่างอื่นซ้อนขึ้นมา ตึงส่วนอื่น ไหวส่วนอื่น คิด ก็รู้ว่ามีอันอื่นที่มันสลับซ้อนขึ้นมา เราจะไม่ไปผูกไปยึดไปจ้องอยู่ที่เดียว แต่ก็ไม่ใช่ไปเสียเอง ไม่ใช่ไปเอง

แล้วก็ไม่บังคับให้มัน ที่มันจะไปก็ไปเอง มันจะอยู่ที่ก็อยู่ที่เอง ไม่ได้ไปขวนขวายอะไรเอง ฉะนั้นการปฏิบัติเจริญกรรมฐานไปเรื่อย ๆ เรื่อยๆๆๆ นี่ จึงเหมือนกับว่าการทำเข้าไปสู่ความเป็นปรกติ เหมือนกับการหยุด หรือเหมือนกับการที่ไม่ได้มีความขวนขวายอะไร แต่มันก็รู้อยู่สังเกตรับรู้สภาวธรรมต่าง ๆ อันนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความฉลาดในการที่จะรู้จักจะดูแง่ต่าง ๆ บางครั้งเราอ่านตัวเองไม่ออก

ในขณะที่ปฏิบัติไป ๆ แต่มันตกไปอยู่ในลักษณะที่ไปจ้องจับไปติดตามไปเพ่งเล็งไปค้นหา ซึ่งตกเป็นเครื่องมือของกิเลสคือตัณหาอุปาทาน ความอยากความยึด ทำ ๆ ไปนี่เจริญสติไปดูไป ๆ แล้วก็ไปจ้องไปจับไปค้นไปฝักใฝ่อยู่ ตัณหาเข้าไปบงการแล้วเข้าไปเคลือบในจิต วิธีที่จะให้มันไม่เป็นเครื่องมือของตัณหาก็มาจับเอาแง่ของการตรงที่ว่า จะหยุดนะ คือไม่เอา ไม่ได้ไปทำอะไรแล้ว คือไม่ห่วงในการที่จะรู้ จะลองอยู่เฉย ๆ ดูบ้างซิ

นั่งไปจะอยู่เฉย ๆ ดูบ้าง จะไม่ขวนขวายอะไรทั้งหมด จะไม่เอาไปดูทางนั้นดูทางนี้ จะอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องอยากรู้อะไร อันนี้เป็นวิธีที่จะแก้การไม่ตกเป็นเครื่องมือของตัณหา แต่ก็ไม่ใช่บังคับให้มันหยุดนะ จะหยุดนี่ก็คือไม่ได้บังคับ เหมือนคนจะอยู่เฉย ๆ จะทำตัวเองอยู่เฉย ๆ แต่เป็นคนที่อยู่เฉยแบบรู้ไม่ใช่นั่งแบบใจลอย คนนั่งเฉย ๆ แต่ว่าเขารู้ตัวอยู่เขามีกระแสการรู้ตัว เห็นปรากฏการณ์ในตัวเองว่าจะไปยังไงจะอะไรยังไง

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตมันหยุดอยู่ไม่ได้ทำจิตให้ฝักใฝ่ค้นคว้าอะไร แต่จะทำจิตให้มันหยุด มันก็จะรู้ตัวมันเอง จิตมันจะเกิดรู้ตัวมันเอง พอจิตมันหยุดด้วยการที่ว่ามันไม่ฝักใฝ่มันก็จะกลับมารู้ตัวมัน ตัวรู้น่ะจะเกิดรู้ตัวรู้ขึ้น แล้วก็ไม่ได้บังคับ เมื่อไม่ได้มีการบังคับก็จะเห็นว่ามันแกว่งได้ จิตนี่มันจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ไม่กี่ขณะเดี๋ยวมันก็แกว่ง แกว่งก็รู้ ไม่ได้บังคับว่ามันจะต้องหยุดอยู่ มันส่ายไปรับรู้ก็รู้ รู้แล้วก็ปล่อย ไม่ฝักใฝ่ไปในอารมณ์

อันนี้เรียกว่าเหมือนกับเรารบก็ต้องมีกลยุทธ รุกไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง หยุดกับที่บ้างอะไรบ้างเพื่อจะแก้เกมต่าง ๆ ของการปฏิบัติ บางครั้งเราทำไปๆๆ มันกลายเป็นทำด้วยตัณหาด้วยความอยากความยึด อุปาทานยึด ตัณหาหลุดไปก็ด้วยการที่ว่าหยุดคือไม่เอาอะไร ทำใจว่าจะอยู่เฉย ๆ ไม่เอาอะไร ไม่อยากได้อะไร ตัณหาก็หลุดไป ขณะนั้นจิตจะเบาด้วยพอตัณหามันหลุดไปนี่จิตจะเบา

จิตจะเบาตัวผ่องใส จิตจะผ่องใสถ้าหากว่าจิตคลายจากอุปาทาน อุปาทานทำให้จิตมันหนัก คือทำ ๆ ไป คือดูไปจ้องไปจะเอาให้ได้ การที่ทำกรรมฐานอยู่นี่แล้วทำด้วยความที่จะเอาให้ได้มันตกเป็นเครื่องมือของอุปาทาน ของตัณหาอุปาทาน จิตก็หนัก เราก็ต้องแก้เกมใหม่ว่าไม่เอาอะไรแล้ว อยู่เฉย ๆ แต่ก็เป็นเหมือนกับจิตมันกลวงคืออยู่เฉยแต่รู้ตื่นอยู่ จิตมันก็จะเบา เบา ผ่องใส

ตานี้บางครั้งมันก็ต้องลุกบ้างนะ ใส่ใจบ้างสังเกตบ้างลงไป ถ้ารู้สึกมันล่องลอยมันเบลอมาอยู่ คือการที่ทำจิตให้หยุดให้ปล่อยนี่มันมาอยู่ในจุดที่หมิ่นเหม่ หมิ่นเหม่ในการที่จะล่องลอย ฉะนั้นบางครั้งก็ต้องใส่ใจลงไปบางขณะ ใส่ใจสังเกต ปรับผ่อน คือนึกอยู่ เราต้องมีคำสอนที่กำกับในใจเราไว้ว่า หนึ่งเราจะต้องพยายามเข้าไปสู่ความเป็นปรกติไว้ นึกถึงลักษณะของความปรกติไว้ ปรกติคือมันจะต้องไม่บังคับนะ มีคำสอนในใจว่าจะต้องไม่บังคับ

ดำเนินเข้าไปสู่ความไม่บังคับ สังเกตว่าในขณะนั้นมีการบังคับไหม ถ้ามีการบังคับก็ผ่อนเสีย ผ่อนตาม ผ่อนไปๆๆๆ มันก็หลุดมันก็เบา แล้วดูจังหวะเหมือนกับการหายใจเหมือนกันนะ หายใจที่จะให้มันสละสลวยนุ่มนวลก็ต้องฉลาดในการที่จะหายใจ คือรู้จักผ่อนจังหวะ จังหวะไหนที่จะหายใจเข้า จังหวะไหนที่จะหายใจออก คือให้เขาเป็นไปของเขาเอง คอยผ่อนตามเขา เขาจะเริ่มหายใจเข้าก็ให้เป็นเรื่องของเขาเอง เขาจะหายใจออกก็เป็นเรื่องของเขาเอง ทำอยู่อย่างนั้น

ตานี้ผู้ปฏิบัติบางครั้งไม่รู้ตัวไปหายใจเสียเองไปทำเสียเองมันจึงเกิดการอึดอัด คับอกคับกาย เวลาอยู่ดี ๆ ไม่ได้เจริญสติกำหนดลมหายใจก็เห็นหายใจสบายดี แต่เวลาพอไปดูลมหายใจทำไมมันอึดอัด นั่นเพราะว่าไปเปลี่ยนแปลงระบบการหายใจ ฉะนั้นจะต้องปล่อยเขาเป็นธรรมชาติของเขา คือเขาจะไม่หายใจก็ปล่อยเขาไม่หายใจ คือลมหายใจเขาจะไม่หายใจก็ปล่อยเขาไป จะไม่หายใจก็ไม่หายใจ จะนิ่ง เดี๋ยวพอถึงจุดหนึ่งมันก็สูดลมเข้าเอง เข้าไปแล้วก็ไม่ต้องไปดันลมออกมา

ให้มันเข้าไปสุดของมัน มันจะไม่หายใจออกก็ช่างมัน เดี๋ยวมันก็หายใจออก หายใจออกแล้วมันจะไม่หายใจเข้าก็ปล่อย ให้เขาหายใจของเขาเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ลมหายใจละเอียดได้ไว มันจะไม่อึดอัด เพราะการที่อึดอัดนี่คือลมมันถูกกัก ลมมันมีลักษณะในการทำให้ตึง เมื่อลมถูกกักมันก็ทำให้ตึงตรงนั้นตึงตรงนี้ เดี๋ยวมันก็ตึงไปถึงสมองเพราะลมมันผ่านขึ้นสมองได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ปรับผ่อน หายใจปรับผ่อน

ส่วนอื่นก็เหมือนกัน ในด้านจิตใจก็เหมือนกันก็ไม่บังคับ สังเกตให้ดีบางครั้งคอยจะไปบังคับจิตจะให้คงอยู่กับอารมณ์นี้ บังคับให้คงอยู่กับอารมณ์นี้ นั่นคือบังคับแล้ว จิตบางครั้งมันเบน ขณะที่ดูอารมณ์นี้อยู่นี่แต่มันจะเบนไปที่อื่นแล้ว 

ที่มา @ สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

No comments:

Post a Comment