Sunday, March 18, 2012

สิ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน ตอน 1 พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

นมตถุ  รตนตตยสส    ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย  ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

          ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะ  ตามหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมสติปัญญาในการประพฤติปฏิบัติธรรม    เพื่อลดละสละวางจากความยึดมั่นถือมั่น  ทำลายอาสวกิเลส  บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นเป้าหมายเป็นที่สุด     ปุถุชนนั้นก็จะมีความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร    คือร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา  เพราะว่าไม่ได้สดับ ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้เจริญสติพิจารณาให้เห็นชัดตามความเป็นจริงจากอดีตจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต    ถ้าไม่ได้ปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งพระธรรมสัจธรรมความยึดมั่นถือมั่นในสังขารก็จะมีเรื่อยไป

          พระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งประทับอยู่ที่ พระวิหารเชตวัน นครสาวัตถี   ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วก็ตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย   ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจะเบื่อหน่ายบ้างคลายกำหนัดบ้างหลุดพ้นบ้างในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูปทั้งสี่นี้    ข้อนั้นเพราะเหตุไร    เพราะว่าความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี ความเกิดก็ดี ความตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ย่อมปรากฏ    ฉะนั้นปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง  หลุดพ้นบ้างในร่างกายนั้น    ข้อความตรงนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับไม่ได้เคยได้ฟังได้ยินได้ฟังธรรมะ  ไม่เคยประพฤติปฏิบัติก็ตาม   แต่ว่าปุถุชนเหล่านั้นบางท่านก็มีโอกาสที่จะเบื่อหน่ายต่อร่างกายนี้  เกิดความเบื่อหน่ายเกิดความคลายกำหนัด  หลุดพ้นจากร่างกายนี้ถึงแม้จะไม่ได้เคยสดับพระธรรมก็ตาม   ข้อนี้เพราะเหตุไร    เพราะว่าร่างกายนี้มันมีการเสื่อมให้เห็น  มีความเปลี่ยนแปลงมีความเสื่อม   บางช่วงมีความเจริญ  ตอนเป็นเด็กเจริญขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว   พออายุมากก็เสื่อมลง    ปุถุชนก็มองเห็นว่า  เออ  มีการเกิดแล้วก็มีการตาย    ฉะนั้นบางคนก็เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในร่างกายนี้ได้

          แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ว่า  จิตบ้าง  มโนบ้าง  วิญญาณบ้าง   ปุถุชนที่ไม่ได้สดับไม่อาจจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย   ข้อนี้เพราะเหตุไร   เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนไม่ได้สดับย่อมรวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา  ยึดถือด้วยทิฏฐิว่านั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราดังนี้ตลอดกาลช้านาน     ฉะนั้นปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจึงเบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย  อันนี้ท่านยกมาถึงด้านจิตใจที่ปรากฏอยู่ในมหาภูตรูปในร่างกายนี้     ท่านยกถึงจิตใจที่เรียกว่าจิตบ้าง  มโนบ้าง วิญญาณบ้าง   ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับไม่ได้ศึกษาไม่ได้ฟังไม่ได้ปฏิบัติไม่อาจจะเบื่อหน่ายได้ หรือคลายกำหนัดหรือหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นได้   เพราะว่าปุถุชนนั้นย่อมจะรวบรัดถือไว้  ยึดถือจิตนี้ไว้ด้วยอำนาจของตัณหาความทะเยอทะยานอยาก  ถือไว้ด้วยความเห็นผิด  ยึดไว้ด้วยความเห็นผิด  ว่านั่นเป็นเรา ถือจิตนี้ก็ว่าเป็นของเรา  เป็นเราเป็นตัวตนของเรา 

เราคิด  เรานึก  เราชอบ  เราไม่ชอบ    อย่างนี้ยึดไว้ด้วยความเห็นผิด  ด้วยความอยากด้วยตัณหามาช้านานแล้ว     ฉะนั้นปุถุชนที่ไม่ได้สดับ  ที่จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดหลุดพ้นนี่ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

          พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า  ภิกษุทั้งหลาย   ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับจะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้  โดยความเป็นตนยังชอบกว่าแต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่   ข้อนั้นเพราะเหตุไร   เพราะว่าร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้เมื่อดำรงอยู่  ปีหนึ่งบ้าง  สองปีบ้าง  สามปีบ้าง  สี่ปีบ้าง  ห้าปีบ้าง  สิบปีบ้าง  ยี่สิบปีบ้าง  สามสิบปีบ้าง  สี่สิบปี  ห้าสิบปี  ร้อยปีบ้าง หรือยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง  ย่อมปรากฏ    แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ว่าจิตบ้าง  มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น  ดวงหนึ่งเกิดขึ้น  ดวงหนึ่งดับไป ทั้งกลางคืนและกลางวัน    อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสชี้แจงว่า  ปุถุชนที่ไม่ได้สดับนี่จะเข้าไปยึดถือร่างกายโดยความเป็นตัวตนยังชอบกว่า   แต่จะเข้าไปยึดถือจิตโดยความเป็นตัวตนนั้นหาชอบไม่    เพราะอะไร    เพราะว่าร่างกายนี้มันปรากฏอยู่   มันปรากฏอยู่ให้เห็น  ร่างกายนี้มันเกิดมาแล้วก็ปรากฏอยู่  สิบปี  ยี่สิบปี  สามสิบปี  เป็นร้อย ร้อยกว่า   มันมองเห็นปรากฏอยู่จะเข้าไปยึดถือมันก็ชอบอยู่ว่า  เอ้อ  ร่างกายมันปรากฏให้เห็น    แต่ว่าจิตนั้นน่ะที่จะเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน เป็นเรา หาชอบไม่    อันนี้เรียกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน แต่ว่าปุถุชนนั้นกลับไปยึดถือเป็นตัวตนเป็นเราเป็นของเรามากกว่า    ร่างกายนี้ยังพอเห็นยังเบื่อหน่ายคลายกำหนัด   พระพุทธเจ้าจึงว่า  ถ้าจะยึดยึดกายนี่ก็ยังชอบ คือยังชอบกว่า    เพราะว่าจิตใจนี่เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา  ดวงนี้เกิด  ดวงนี้ดับไป  ดวงโน้นเกิดตลอดทั้งกลางวันกลางคืน    มันไม่มีตัวตนไม่มีสรีระไม่มีรูปร่าง ไม่เป็นสิ่งที่ปรากฏเห็นสัณฐานเป็นรูปร่าง    แต่ปุถุชนที่ไม่ได้สดับกลับไปยึดมั่นถือมั่นยิ่งกว่ากาย  หลุดไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ฝึกฝนไม่ได้สดับไม่ได้ปฏิบัติ    

ฉะนั้นคนบางคนก็ยอมรับว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนอะไรของเรา  เพราะว่าเดี๋ยวแก่  เดี๋ยวก็เจ็บ  เดี๋ยวก็ตาย  เน่าเปื่อยผุพัง  บังคับไม่ได้  ไม่ใช่ตัวตน  ยอมรับ    แต่มันไปยึดจิต จิตวิญญาณว่าจิตใจน่ะคือเรา  เรามาอาศัยร่างกายนี้อยู่   พอร่างกายนี้แตกดับเปลี่ยนแปลงเข้า     เราคือจิตนั้นก็ออกไปหาที่อยู่ใหม่   อันนี้คือความเหนียวแน่นในการยึดมั่นถือมั่นในจิตเป็นเราเป็นของเรา   ทั้ง ที่จิตมันก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไร  ไม่มีรูปร่างสัณฐานอะไร  เกิดดับหมดไป  เกิดดวงหนึ่ง  ดับไป  ดวงใหม่เกิด  ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่อย่างนี้    แต่มันกลับไปยึด  ปุถุชนกลับไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นของเรายิ่งกว่ากาย    ร่างกายเสียอีกยังชอบกว่าที่จะยึดเพราะมันปรากฏอยู่จะยึดว่าเป็นเราเป็นของเราก็ยังชอบกว่าการไปยึดจิต   พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น  แต่ปุถุชนที่ไม่ได้สดับกลับไปยึดจิตมากกว่าว่าเป็นเราเป็นของเรา  เพราะมันติดมันยึดมานานแล้วด้วยอำนาจของตัณหาและอุปาทาน

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมใส่ใจด้วยดีโดยแยบคายใน
ปฏิจจสมุปบาทธรรมในร่างกายและจิตใจที่ตถาคตกล่าวมาแล้วนั้น ว่า  เพราะเหตุดังนี้เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ   ปฏิจจสมุปบาทธรรม     เมื่อผู้ปฏิบัติใส่ใจเข้าไปพิจารณาโดยแยบคายถึงธรรมชาติซึ่งปรากฏ
ในลักษณะเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรม   คือธรรมที่มันเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกันอยู่   คือเข้าไปสัมผัสเห็นว่า  เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิด อ้าว ไอ้สิ่งนี้ก็เกิด  เมื่อสิ่งนี้ไม่มีไอ้สิ่งนี้ก็ไม่มี   เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ   หมายความว่า  สิ่งต่างๆ ที่มันประกอบกันมาเป็นสังขารคือร่างกายและจิตใจ  ท่านใช้คำว่า สิ่ง เพราะว่ามันไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  มันคือธรรมชาติ  เรียกว่า สิ่ง  เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม  ธาตุอากาศ  ธาตุวิญญาณ  เป็นสิ่งต่าง     คือสิ่งนี้มีอีกสิ่งมันก็มีขึ้น  มันเป็นปัจจัยกันอยู่   อ้าว  สิ่งนี้เกิดอีกสิ่งหนึ่งก็เกิด   สิ่งนี้ไม่มี สิ่งอีกสิ่งก็ไม่มี   เมื่อสิ่งนี้ดับ อีกสิ่งนี้ก็ดับไป   มันเป็นการเกี่ยวพันเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกันอยู่     ฉะนั้นไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาโดยลำพังโดยปราศจากเหตุปัจจัย

          สิ่งต่าง ที่เกิดขึ้นแต่ละอย่างแต่ละธรรมชาตินั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น   สิ่งที่เป็นเหตุมีเป็นปัจจัยให้สิ่งที่เป็นผลมันเกิดขึ้น    สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นผลมันก็เกิดขึ้น    สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยมันไม่มี สิ่งที่เป็นผลมันก็ไม่มี    สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยมันดับ สิ่งที่เป็นผลมันก็ดับ    ถ้าเหตุมันมีผลมันก็มี  เหตุไม่มีผลมันก็ไม่มี  มันเป็นปัจจัยกันเกี่ยวข้องกันไปอย่างนั้น    นี่คือธรรมชาติจริง ในชีวิตนี้  เช่นว่ายกตัวอย่างว่า  เพราะอาศัยผัสสะ  ผัสสะคือการกระทบอันเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา  ผัสสะที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา  เช่น ความเย็น ความร้อน ความนุ่มนวล  เย็นพอดี ร้อนพอดี    สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา    เมื่อผัสสะคือความเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงที่มันพอดีๆเป็นปัจจัย  คือมาผัสสะมากระทบมันก็เกิดสุขเวทนาขึ้น    แต่พอเหตุปัจจัยคือผัสสะการกระทบของโผฏฐัพพารมณ์ที่ทำให้เกิดสุขเวทนาเหล่านั้นมันดับ สุขเวทนาเหล่านั้นก็ดับไปสงบไป     อาศัยผัสสะที่เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนา มันก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น    เมื่อผัสสะเป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนานั้นดับ ทุกขเวทนาที่เกิดโดยอาศัยผัสสะนั้นก็ดับไป   อาศัยผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาที่มันไม่สุขไม่ทุกข์คือเฉย มันก็เกิดอุเบกขาเวทนาขึ้น   เมื่อผัสสะที่เป็นปัจจัยเหล่านั้นมันดับ อุเบกขาเวทนาคือไม่สุขไม่ทุกข์มันก็ดับ

          ฉะนั้นความสุขความทุกข์ความเฉยๆที่มันเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ   เพราะมันมีเหตุมีปัจจัย  มันมีการผัสสะมีการกระทบสัมผัสกัน   อายาตนะภายนอกอายาตนะภายในมากระทบเกิดวิญญาณรับรู้  เกิดประชุมเกิดผัสสะขึ้นก็เกิดเวทนา      จักขุสัมผัสสชาเวทนา  เกิดการ กระทบขึ้นทางตาเวทนาเกิดขึ้น  คือมีสี มีประสาทตา มีจักขุวิญญาณประชุมกันขึ้น  มีสีมากระทบ มีการเห็น  เกิดผัสสะขึ้นตรงนั้นน่ะ  ตรงที่เห็นนั่นน่ะ  ตรงที่เห็นนั่นน่ะมันมีผัสสะแล้ว  มีการกระทบอารมณ์แล้ว   สีต่าง นั้นเป็นอายาตนะภายนอก   ตา ประสาทตาเป็นอายตนะภายใน   การเห็นเป็นธาตุรู้ ประชุมกัน มันเกิดผัสสะขึ้นมา   มันก็จะเกิดเวทนาขึ้น  เกิดเวทนาขึ้นมา

          เกิดเวทนาเดี๋ยวมันก็เกิดตัณหาต่อ   ถ้าภาพที่เห็นสวยงามมันก็เกิดตัณหาความชอบใจติดใจ   ถ้าปรุงแต่งว่าภาพนั้นไม่สวยไม่งามมันก็เกิดความไม่ชอบใจเกิดขึ้น   ความชอบใจไม่ชอบใจมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดเพราะมันมีเวทนาเสวยอารมณ์    เวทนาก็เกิดขึ้นมาเพราะมันมีการผัสสะ มีการกระทบสัมผัสทางตาขึ้นมา    สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยนั่นคือ   ปฏิจจ สมุปบาทธรรม   พอมีการกระทบมีการเห็น  เอ้า  เวทนาเกิดขึ้น  แล้วก็เกิดตัณหาความชอบใจหรือความไม่ชอบ อยากจะให้มันหมดไป อยากให้มันสิ้นไป    เป็นวิภวตัณหา อยากไม่มีไม่เป็น  ถ้ามันเป็นภาพดีสวยงามก็อยากมีอยากเป็น หรือว่าอยากเข้าไปรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้น    ถ้ามันไม่สวยงาม ปรุงแต่งว่ามันไม่สวยงามก็อยากให้มันไม่มีไม่เป็นให้มันหมดไปไม่ต้องการ

          มีความอยากมันก็มีความยึดเข้ามา  ยึดมั่นถือมั่นว่านั้นดีนั่นสวยนั่นงาม    นั่นคือเรานั่นคือของของเรา   เกิดความรักความหวงแหนเป็นอุปาทาน    อุปาทานเหล่านี้มันก็เกิดจากตัณหา  ตัณหาก็มาจากเวทนา   เวทนาก็มาจากผัสสะ   ผัสสะที่มันมีขึ้นมาได้มันก็มีอายาตนะ  เพราะมันมีอายาตนะภายในภายนอก  คือมันมีประสาทตา มันมีสีต่าง มันจึงเกิดผัสสะ  มันก็เป็นปัจจัยกัน

          อายาตนะภายในก็มาจากเพราะว่ามันมีรูปนาม    รูปนามก็มาจากวิญญาณเกิดปฏิสนธิวิญญาณ  วิบากวิญญาณ    วิญญาณก็มาจากสังขาร    สังขารมาจากอวิชชาความไม่รู้ความไม่รู้ในอดีตปรุงแต่งสังขารเป็นกุศล อกุศล ก็เกิดวิญญาณ มีนามรูป   นามรูปก็สร้างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายาตนะภายใน   พอมีอายาตนะภายในมันก็กระทบอายาตนะภายนอก   สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอายาตนะภายนอก  เกิดผัสสะ   พอผัสสะก็เวทนาเกิด   เวทนาเกิดตัณหาเกิด  ตัณหาเกิดอุปาทานเกิด   อุปาทานเกิด เกิดภพเกิดกัมมภวะเกิดการกระทำกรรมลงไปอีก  แล้วก็เกิดอุปัตติภพเกิดการอุบัติขึ้นเกิดชาติ   พอมีชาติการเกิดขึ้นมาก็มีชรา  มีชรามีความแก่มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสมีความตาย   โสกะคือความเศร้าโศก  โทมนัสความเสียใจ  ปริเทวะก็บ่นเพ้อรำพัน  ทุกขะคือทุกข์กายทุกข์ใจ  โทมนัสเสียใจ  อุปายาสคับแค้นใจ     ความเสียใจเต็มที่กลายเป็นความแค้นใจคับแค้นใจ  คับแค้นใจมันก็เกิดขึ้นตามมา    เพราะมันมีการเกิดมีชาติการอุบัติมันเกิดขึ้นก็จึงมีชรามีความแก่มีความเจ็บมีความตาย   ในระหว่างที่มันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา  มันก็ยังแฝงด้วยอวิชชา  ตัณหา  มีอวิชชาอยู่มันก็เกี่ยวข้องกันไปอีก   มีอวิชชามันก็สร้างต่อไปอีกเป็นวัฏฏจักรหมุนวนเป็นลูกโซ่เกี่ยงข้องกันไป

          ฉะนั้นชีวิตนี้ถ้าพิจารณาโดยแยบคายลงไปแล้วก็จะเห็นว่าเป็นธรรมชาติที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน   ไม่ได้เกิดจากใครมาดลบันดาลให้เป็นไป    ความสุขความทุกข์ทุกขณะที่เป็นไปในชีวิตประจำวันมันเกิดจากเหตุปัจจัยในธรรมชาติของมันเอง   ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดมาดลบันดาลให้เป็นไป    ฉะนั้นผู้ได้สดับได้ปฏิบัติก็เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  เพราะไม้สองอันครูดสีกันจึงเกิดไออุ่นเกิดความร้อน  แต่ถ้าแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละออกเสียจากกัน  ไออุ่นซึ่งเกิดจากการครูดสีกันนั้นก็ดับไปสงบไป  แม้ฉันใด   ภิกษุทั้งหลาย  เพราะอาศัยผัสสะเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนาจึงเกิดสุขเวทนาขึ้น    เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป  สุขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นจึงดับจึงสงบไป    ท่านอุปมาเหมือนกับไม้ที่เอามาครูดมาสีกัน  สมัยโบราณนั้นเขาจะจุดไฟทีนึงเขาจะต้องเอาไม้มาสีกัน  ไม่มีไม้ขีดไฟ  เอาไม้ไผ่แห้ง มาสี......กันให้มันเกิดความร้อน  หนักเข้ามันก็เป็นประกายไฟ    เพราะฉะนั้นถ้าไม้มันไม่มาครูดกันมันอยู่กันคนละที่  ความร้อนมันก็เกิดขึ้นไม่ได้    อันนี้ไฟ ความร้อนไฟมันเกิดขึ้นได้เพราะว่ามีไม้สองชิ้นมาสีกันมาครูดกัน  ไฟจึงเกิดขึ้น    ฉันใดก็ดี ความสุขความทุกข์ความเฉย มันเกิดขึ้นมานี่  มันก็เพราะมีผัสสะมีการกระทบ มีการสัมผัสสัมพันธ์กัน    มีอายาตนะภายในภายนอกกระทบสัมผัสเกิดเวทนาขึ้น   ถ้าไม่มีการกระทบกันไม่มีการผัสสะขึ้นมาเวทนามันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เหมือนไม้ที่มันอยู่คนละที่   อย่างขณะนี้ภาพสีสรรค์ต่าง ที่มันมีอยู่ในโลกนี้  มันก็มี ตาของสัตว์ทั้งหลายมันก็มี  ถ้ามันอยู่กันคนละที่มันก็ไม่เห็น   ไม่เห็นมันก็ไม่มีเวทนา   แต่ถ้ามันเกิดมาสัมผัสสัมพันธ์เกิดผัสสะขึ้นมา  สีกับภาพต่าง ผ่านมาที่ตากระทบประสาทตาการเห็นเกิดขึ้น  ผัสสะเกิดขึ้น  มันก็เกิดเวทนา    ถ้ามันแยกกันไป  ตาส่วนตา  สีส่วนสี  มันไม่มาสัมผัสกัน ก็ไม่เห็นมันก็ไม่มีเวทนา  มันไม่มีผัสสะก็ไม่มีเวทนา   (เทปหมดด้าน)

          ถ้ามันไม่มากระทบประสาทกาย มันก็ไม่เกิดความรู้สึกทางกาย   มันก็ไม่เกิดสุขทุกข์
เฉย อะไรทางกายได้    ถ้ากายประสาทกายก็อยู่ส่วนประสาทกาย   โผฏฐัพพารมณ์คือเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงมันก็อยู่ส่วนโผฏฐัพพารมณ์  ไม่มาผัสสะไม่มากระทบ  มันก็ไม่เกิดเวทนาไม่เกิดสุขทุกข์    จะเกิดความสบายกายไม่สบายกายน่ะ มันจะเกิดขึ้นมาเพราะมันเกิดการผัสสะ  เวทนาที่เกิดขึ้นที่กายเป็นสุขเวทนาคือสบายกาย    ทุกขเวทนาคือความไม่สบายกาย เช่น มันปวดมันเมื่อย มันเจ็บมันชามันไม่สบายกาย   เพราะมันมีการผัสสะ  มันมีโผฏฐัพพารมณ์คือเย็นร้อนอ่อนแข็ง หย่อนตึง มากระทบกับประสาทกาย    เพราะที่ตัวของท่านทั้งหลายมีประสาทกายอยู่  ที่ร่างกายทุกคนมีประสาทกายอยู่  เป็นอายาตนะภายในอยู่ทั่วตัว    พอมีโผฏฐัพพารมณ์คือ เย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงมากระทบประสาทกาย  เกิดความรู้สึกขึ้นเวทนา    มันเกิดผัสสะขึ้นมากระทบเกิดผัสสะ มันก็เกิดเวทนาขึ้นมา    ถ้ามันมาสัมผัสสัมพันธ์กันพอเหมาะพอดี มันไม่ร้อนเกินไป มันก็สบายหน่อย   หรือว่าอากาศมันร้อนแต่มันมีลมพัดมากระทบ มันจะเย็นสบาย    หรือว่าหน้าหนาวอากาศมันหนาวเรามีผ้าห่มห่มมันก็เกิดความอบอุ่น รู้สึกสบายขึ้น    ถ้าปล่อยให้มันเย็นเกินไปหนาวเกินไปก็ไม่สบายกาย   ถ้ามีมีดมีเข็มมาทิ่มแทง มันก็เจ็บเมื่อมันเกิดผัสสะเพราะมันมีการกระทบผัสสะกันขึ้น    ไอ้ที่เราปวดเข่าปวดหลังปวดหัวนี่ เพราะมันมีการผัสสะ  มันจะมีธาตุดินน้ำ มีธาตุดินธาตุไฟธาตุลมมากระทบกายปสาท   ที่นี้มันกระทบมากไป มันแรงมันกระทบแรง  ความตึงลมกระทบมันก็เกิดความไม่สบายกาย ตึง ปวด เจ็บ     อย่างที่เรานั่งอยู่นาน นี่  เพราะว่าขาเราพับอยู่ ลมมันก็มากระทบกายนานอยู่อย่างนี้   มันทำให้ตึงให้เกร็งให้ตึง  ก็ทำให้ปวดเจ็บชา    แต่พอเราเหยียดขาเราคลายออกไปลมมันคลายตัว  การสัมผัสผัสสะน้อยลง  ทุกข์เหล่านั้นก็คลายไป

          ฉะนั้นสุขเวทนาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมาจากการมีผัสสะ  ผัสสะกระทบ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง  ความสุขความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเอง เป็นปัจจัยกันอยู่    สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี  มันมีผัสสะมันก็มีเวทนา  สิ่งนี้คือผัสสะมี  เวทนาคือ.....สิ่งนี้คือเวทนาก็มี    สิ่งนี้คือผัสสะไม่มี สิ่งนี้คือเวทนาก็ไม่มี   สิ่งนี้คือผัสสะดับ สิ่งนี้คือเวทนาก็ดับ    อันนี้ยกตัวอย่างเฉพาะตรงผัสสะกับเวทนา     แต่มันทุกอย่างในสังขารร่างกายจิตใจ   สิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี  สิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ  สิ่งนี้เกิดสิ่งนี้ก็เกิด  มันเป็นปัจจัยกัน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอยู่  ซึ่งมันก็ไม่คงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

          ฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดได้สดับได้ปฏิบัติใช้สติสัมปชัญญะเข้าไปกำหนดพิจารณาในสังขาร  คือร่างกายและจิตใจ   คอยดูเวลามันมีการผัสสะกระทบสัมผัสสัมพันธ์เกิดเหตุปัจจัยกันอยู่อย่างนี้ 
เย็นกระทบรู้สึกเย็น  ร้อนกระทบรู้สึกร้อน  ตึงกระทบรู้สึกตึง  แข็งกระทบรู้สึกแข็ง  เกิดสุขเกิดทุกข์  เกิดตัณหาชอบใจ  เกิดความไม่ชอบใจ  ก็พิจารณาไป  อ้อ  สิ่งนี้เกิดสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้ดับสิ่งนี้ดับ  เสียงมากระทบหูได้ยินเกิดขึ้น  ได้ยินแล้วรู้สึกชอบใจ  อ้าว  บางทีรู้สึกไม่ชอบใจ  ตาเห็นรูปเห็น รู้สึกชอบไม่ชอบ  กลิ่นกระทบจมูกรู้สึกรู้กลิ่นแล้วก็รู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ   รสกระทบลิ้นรู้รสเกิดผัสสะทางลิ้น เกิดเวทนาบางทีก็เกิดสุขเวทนาอร่อย   บางทีก็เกิดทุกขเวทนาไม่ชอบใจ บางทีถ้าเป็นสุขเวทนาก็ชอบใจ    มันเป็นปัจจัยกันอยู่อย่างนี้ให้เข้าไปพิจารณา  ใช้สติสัมปชัญญะเข้าไปกำหนดหยั่งดูหยั่งรู้ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยในสังขารร่างกายนี้    เพื่อทำลายความยึดถือความยึดมั่นว่ามันเป็นของเที่ยงมันเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นของเราออกไป  เห็นว่ามันเป็นปัจจัยเป็นเหตุเป็นปัจจัย  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปเสื่อมไปสิ้นไปอยู่ทุกขณะ  ให้เกิดความเบื่อหน่าย    เบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด    เมื่อคลายกำหนัดจิตก็หลุดพ้น

          ฉะนั้นเมื่อภิกษุหรือผู้ปฏิบัติธรรมมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ก็ย่อมเบื่อหน่ายในผัสสะ     เบื่อหน่ายในเวทนา  เบื่อหน่ายในสัญญา  เบื่อหน่ายในสังขาร  เบื่อหน่ายในวิญญาณ   เมื่อเบื่อหน่ายก็ย่อมคลายกำหนัด  เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น     เมื่อหลุดพ้นแล้วก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้วและย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว     กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี   นี่  ถ้าหากว่าผู้ใดได้ปฏิบัติเห็นชัดในสภาวธรรมแม้แต่ขณะจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว   ทราบชัดว่าชาติได้สิ้นไปแล้ว  ภพชาติที่จะเวียนว่ายตายเกิดได้สิ้นไปแล้ว   พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำก็ทำเสร็จแล้วคือกิจเพื่อความเป็นอย่างนี้ กิจเพื่อการทำลายกิเลสให้มันสิ้นทุกข์ให้มันจบให้มันสิ้นแล้ว  ก็รู้ด้วย    อันนี้ก็หมายถึงว่าขณะที่บรรลุธรรมก็จะรู้ตัวว่ารู้ได้สิ้นทุกข์แล้ว สิ้นภพชาติแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่จะทำเพื่อจะคลายกิเลสก็หมดจบแล้ว

          แต่ถ้ายังไม่ถึงยังไม่เห็นก็เรียกว่ายังมีกิจที่จะต้องทำ  ยังเป็นผู้จะต้องกระทำ  ต้องศึกษาต้องปฏิบัติเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ด้วยการทำลายกิเลสตัณหาความยึดมั่นถือมั่นออกไป   ถ้ายังไม่ได้ทำให้สิ้นกิเลสยังมีภพชาติต่อไป    ก็เป็นอันว่ากิจของเรายังมีอยู่   หน้าที่ของพวกเรายังมีอยู่ ยังมีหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่ก็คือ  การที่จะต้องปฏิบัติเพื่อการทำลายกิเลส    เพื่อความสิ้นไปแห่งภพชาติทั้งหลาย  เพื่อความดับไปแห่งความทุกข์ทั้งหลาย  เป็นกิจเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อไปจนกว่าจะเห็นธรรมรู้ธรรมจิตใจหลุดพ้นแล้วจึงจะจบ  กิจเหล่านี้ก็เป็นอันว่าสิ้นไป    นั่นก็คือว่าผู้นั้นเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์แล้ว  เป็นอริยบุคคลชั้นสุดท้ายคือพระอรหันต์  ก็จบกิจแห่งการที่จะต้องมาละกิเลสกันอีก   แต่ถ้ายังเป็นเสขบุคคล  เสขบุคคลแปลว่าบุคคลที่ยังต้องศึกษาต่อไปจะต้องทำกิจต่อไป   คือระดับตั้งแต่โสดาบันถือว่าเป็นเสขบุคคล   สกทาคามีอนาคามีนี่เรียกว่า เสขบุคคลยังมีกิจที่จะต้องทำต่อไป

          เพราะฉะนั้นธรรมะที่ได้แสดงวันนี้ก็เป็นธรรมะที่ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิตและวิธีการดับทุกข์ว่าดับกันอย่างไร  จะหลุดพ้นได้อย่างไร    ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่มากมาย   กิจที่จะต้องทำไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไปทำกันที่ไหน  ก็ทำกันอยู่ที่ตัวเอง  กระทำกิจกันอยู่ที่ร่างกายจิตใจนี้เอง    ความดับทุกข์ความสิ้นทุกข์อยู่ที่กายยาววาหนาคืบนี่เอง  ไม่ได้ไปทำกันที่ไหน  ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเดินทางไปไกล   ไปต่างประเทศไปต่างจังหวัด  ไปสำนักนั้นที่นั้นที่นี้  เราถึงจะพ้นทุกข์    เราไปอยู่ที่ไหนมันก็มีกิเลสติดตัวไปที่นั่น  มีอวิชชาความหลงติดไป  โลภะโทสะยังติดอยู่ตลอดไป  ไม่ใช่ไปถึงที่ไหนแล้วกิเลสเราจะหมดไป   กิเลสมันอยู่ที่ตัวอยู่ที่ใจนี่

          ฉะนั้นการทำที่สุดแห่งทุกข์การพ้นทุกข์กระทำกันอยู่ที่ตัวนี้  กระทำกันอยู่ที่กายที่ใจนี่เอง  จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ใช้สติปัญญาเข้าไปหยั่งรู้เข้าไปพินิจพิจารณาในสังขารร่างกาย    เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงดังที่กล่าวแล้ว  ว่าความเป็นจริงของชีวิตนี้มันไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  ไม่ใช่ตัวตนของเรา  เราก็ไม่ใช่ของเราก็ไม่ใช่  ตัวตนเป็นเราก็ไม่ใช่     แต่ปุถุชนนั้นจะมีความยึดว่าเป็นเราอยู่  บางทีก็ยึดว่าเป็นของเรา  เป็นตัวตนเป็นเรา     อย่างร่างกายนี้ก็สำคัญมั่นหมายว่าขาของเรา  แขนของเรา  ตาของเรา  หูของเรา  จมูกของเรา  ลิ้นของเรา  หัวใจตับไตของเรา  หรือนี่ตัวเรา   นี่มันเป็นอย่างนั้น   นี้คือความเห็นผิดความยึดผิดว่าเป็นเราเป็นตัวตนของเรา  แล้วก็ไปยึดเวทนาคือความสุขความทุกข์  ความสบายกายก็ดี  ไม่สบายกายก็ดี  สบายใจก็ดีไม่สบายใจก็ดี  เฉย ก็ดี ก็ว่าเป็นเราอีก    เราสบายเราไม่สบาย    นี่อุปาทานมันเข้าไปยึดสำคัญ   


ที่มา @ http://www.watmahaeyong.net

No comments:

Post a Comment