Sunday, March 18, 2012

ชั้นเชิงการปฏิบัติทางจิต ตอน 1 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)

นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอความผาสุก ความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แด่ท่านผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม การที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ก็อาจจะมีสภาวะมีปัญหามีสิ่งต่าง ๆ อะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ ส่วนมากก็จะเกิดนิวรณ์มารบกวนจิตใจ เราจะแก้ไขได้อย่างไร

นิวรณ์ แปลว่าเครื่องกั้นความดี เมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้ความดีคือสติสมาธิปัญญาถูกตัดรอนไป ท่านว่านิวรณ์นั้นเป็นธรรมฝ่ายอกุศลคือฝ่ายไม่ดี ส่วนสติสมาธิปัญญาเป็นธรรมฝ่ายกุศลเป็นธรรมฝ่ายดี เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นก็มาทำลายหรือมาตัดรอนมาขัดขวางสติสมาธิปัญญาไม่ให้เจริญก้าวหน้าไปแต่ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ฉลาดทำตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้แนะแสดงสั่งสอนไว้ ก็สามารถจะเอานิวรณ์มาเป็นประโยชน์ได้ แม้ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีเป็นอกุศลก็ตาม ถ้าฉลาดก็สามารถเอาอกุศลเหล่านั้นมาเป็นคุณได้ มาเป็นประโยชน์ได้

เป็นคุณได้อย่างไร ก็เป็นคุณโดยการที่เอามาเป็นกรรมฐาน เอานิวรณ์เป็นกรรมฐาน คำว่ากรรมฐานก็คือที่ตั้งของสติ เอามาเป็นที่ตั้งของสติ มาเป็นที่อาศัยระลึกรู้ของสติ คือเจริญสติเข้าไประลึกรู้นิวรณ์ต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ นิวรณ์เหล่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นสิ่งที่ตั้งของสติ สติตามระลึกรู้ในนิวรณ์ต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติตามระลึกรู้เท่าทันนิวรณ์หรือธรรมที่กำลังปรากฏอยู่เนือง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่กำลังจิตใจฝึกฝนอบรมใหม่ ๆ

นิวรณ์มีห้าประการคือ

๑.กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ความกำหนัดยินดีในกามคุณอารมณ์ จิตใจเลื่อนไหลใฝ่ฝันในรูป เสียง กลิ่น รส โพฎฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนา

๒. พยาปาทนิวรณ์ ความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย เกิดปฏิฆะเกิดความคับแค้นในจิตใจขึ้นมา

๓. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ฟุ้งซ่านก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รำคาญใจก็เป็นอีกอันหนึ่ง ฟุ้งซ่านด้วยรำคาญใจด้วย ฟุ้งซ่านก็คือจิตใจซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ รำคาญก็หงุดหงิด ประการต่อไปก็คือ

๔. ถีนมิทธนิวรณ์ ความหดหู่ท้อถอยง่วงเหงาหาวนอน แล้วก็ประการที่ห้าก็คือ

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยลังเลใจ

นิวรณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้สำหรับปุถุชนที่จิตยังไม่มีสมาธิพอ ก็มีนิวรณ์เกิดขึ้นได้

วิธีแก้นิวรณ์นั้น ในส่วนของการเจริญสมถะก็มีอุบายหลาย ๆ อย่าง แต่ในที่นี้จะกล่าวเน้นมาสู่การเจริญวิปัสสนา คือแก้ในทางของวิปัสสนา การแก้โดยวิธีการวิปัสสนานั้น ก็มีหลักอยู่ว่า เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นให้กำหนดรู้สิ่งนั้น นิวรณ์อันใดเกิดขึ้นก็เจริสติระลึกรู้นิวรณ์อันนั้นที่กำลังปรากฏ การเข้าไปรู้จะต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง คือรู้อย่างวางเฉย รู้อย่างปรกติ ไม่ใช่รู้ด้วยความเกลียดชัง ไม่ใช่รู้ด้วยการผลักไส ไม่ใช่รู้ด้วยการบังคับ ไม่ใช่รู้ด้วยการอยากให้มันหายไป หรืออยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง คือระลึกรู้ด้วยความปล่อยวาง ระลึกรู้ด้วยความวางเฉย ระลึกรู้ด้วยจิตใจที่เป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย

อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวรู้ใจ รู้การปฏิบัติว่าเจริญสติเข้าไประลึกรู้ตรงไหมแล้วก็ถูกต้องไหม ตรง ก็หมายถึงตรงตัวของนิวรณ์ของสภาพธรรมเหล่านั้นที่กำลังปรากฏ เรียกว่าเข้าไปจดลักษณะ จดสภาวะ จดธรรมชาติ จดอาการ จดปฏิกิริยา จดความจริงของธรรมชาติเหล่านั้น เรียกว่ากำหนดได้ตรงตัว แล้วก็ถูกต้อง ก็คือการวางเฉยปรกติเป็นกลางได้ อันนี้จะต้องคอยสังเกตดูตัวเอง สังเกตดูจิตใจตนเองและคอยปรับคอยผ่อนให้ถูกต้องอยู่เสมอ ๆ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีความเปลี่ยนแปลงมีความไม่คงที่ ตัวสติสัมปชัญญะก็เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดดับเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเฝ้าระวังและคอยเฝ้าปรับอยู่เสมอ คอยเฝ้าดูรู้เท่าทันคอยสังเกต คอยพิจารณาอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น หลักการของวิปัสสนาจึงไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก ไม่ต้องไปคิดนึกหาอุบายอะไรทั้งหมด เพียงแค่ระลึกรู้สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏด้วยความปรกติเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นนิวรณ์ข้อไหนเกิดขึ้นก็เข้าไปรู้สิ่งเหล่านั้น ดูอาการดูปฏิกิริยาเขาเกิดขึ้นเขาจางลงเขาคลายลงหรือเขาสลายหายไป นี่เข้าไปรู้ ไม่ว่าจะเป็นราคะเกิดความรักความใคร่ความกำหนัดยินดี ก็เข้าไปรู้อาการความรู้สึกที่กำลังปรากฏ มันเกิดมันแรงขึ้นหรือมันเบาลงมันจางลงหรือมันคลายไป หรือมันสลายหายไป

โดยปรกติแล้วเมื่อสติสัมปชัญญะเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปดูเข้าไปรู้ เขาก็จะแก้ไขกันเองโดยธรรมชาติ เรียกว่าเอาธรรมฝ่ายดีเข้าไปสลับ การเข้าไปรู้นั่นน่ะมันจะไปเกิดแทน เกิดแทน ๆ แต่ว่าความรู้สึกของผู้ปฏิบัติก็เหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่หาย เข้าไปดูแล้วยังไม่หาย เช่น เราเกิดโทสะเกิดความแค้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจ สติสัมปชัญญะเข้าไปดูจรดลักษณะของความไม่พอใจ ปฏิกิริยาที่มีความคับข้องคับแค้นนั้น ดูให้ตรง แต่ก็รู้สึกว่ามันก็ยังเกิดอยู่มันก็ยังมีความโกรธอยู่ ยังมีความไม่สบายใจอยู่ ก็ต้องพิจารณาว่า ดูนั้นดูปล่อยวางไหม ดูวางเฉยไหม

ถ้าปรับถูกต้องก็จะพบว่าอาการของความโกรธความแค้นจะจางให้ดูหรือว่าคลายให้ดู คือสติสัมปชัญญะที่เข้าไปดูยังไม่มีความคมกล้า ยังไม่มีความถูกต้องสมบูรณ์แบบ หรือว่ายังไม่เกิดต่อเนื่อง ยังไม่มีความต่อเนื่อง มันก็เหมือนกับว่านิวรณ์เหล่านั้นยังเกิดอยู่ยังแสดงอาการอยู่ ต่อเมื่อใช้ความพากเพียรดูไปรู้ไป อดทนอดกลั้น วางเฉย จะเห็นธรรมเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงให้ดู มีความจางคลายให้ดู มีความเกิดมีความดับไปให้เห็น บางทีมันก็ดับ

วู้บ.......ลงไปทันที ถ้าสติสัมปชัญญะของเรามีความคมกล้า รู้ได้จดตรงตัวมันจริง ๆ ปล่อยวางจริง ๆ ความโกรธเหล่านั้นจะแสดงอาการวู้บหายไป ก็พบว่า อ้อ ! สิ่งเหล่านี้มีความหมดไปไม่เที่ยงเหมือนกัน ดับไปเช่นเดียวกัน บังคับไม่ได้เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดความท้อถอยก็ตาม ก็กำหนดรู้ รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เวลามันเกิดความง่วงความท้อถอย มันมีอาการอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไรในจิตและในกาย จิตรู้สึกอาการอย่างไรที่ท้อถอย ทางกายรู้สึกอย่างไรที่มีการง่วง มีทุกข์ไหม เวลาง่วงมันจะเกิดความทุกข์ มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ในสมองจะมีความล้าความมึนความซึม จิตใจท้อถอย นี่ก็เข้าไปรู้เข้าไปพิจารณาสังเกตสิ่งเหล่านั้นด้วยความวางเฉย ดู ดู ไป เขาก็จะแสดงอาการคลี่คลายให้ดูหรือสลายตัวให้ดู ก็เกิดเป็นความโปร่งความโล่ง ความตื่นตัวขึ้นมาแทนที่ นั่นคือวิธีการของวิปัสสนาโดยไม่ต้องหาอุบายหาเรื่องอะไรมาคิดมานึกมาสอนใจอะไรทั้งหมด ไม่ต้องเสียเวลาอะไร อะไรเกิดขึ้นก็รู้อันนั้นทันทีไม่ต้องคิดอะไรทั้งหมด ราคะเกิดขึ้นดูราคะ โทสะเกิดขึ้นดูโทสะ ง่วงเกิดขึ้นก็ดูความง่วง

เวลามันง่วงจิตมันบางครั้งหมดความรู้สึกไปเพราะว่าหลับ นั่งนี่บางทีเราก็หลับได้ นั่งหลับได้นะ ถ้านั่งหลับสัปหงก พอรู้สึกตื่นก็กำหนดดูความหลับ ดูความหลับดูความตื่น จะจับมันได้หยก ๆ จะเห็นความหลับไปหยก ๆ คือพอตื่นก็คว้าเอาความหลับมาสังเกตได้ทัน ทันได้นิดหนึ่ง เราจะเห็นความต่างกันระหว่างความหมดความรู้สึกกับการมีความรู้สึก ถ้าเราดูอย่างนี้บ่อย ๆ เราก็จะเป็นผู้ที่ไม่นั่งหลับสัปหงก จะเป็นผู้ที่มีจิตใจตื่น รู้ตัวทั่วพร้อมได้ รู้ทันนี่มันจะทำลายจะทำให้ความง่วงถูกกำจัดไป

  หรือว่ามันเกิดความฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็กำหนดรู้ความฟุ้งซ่าน กำหนดดูความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แต่ให้ดูด้วยความวางเฉย อย่าไปดูด้วยความคิดว่าขอให้สงบขอให้สงบ อย่างนี้เป็นการไปเติมเชื้อเพลิงเข้าไปอีก เป็นการไปเติมเชื้อกิเลส ถ้าเราดูด้วยความอยากสงบ ความอยากนั้นเป็นกิเลสเป็นตัณหา ตัณหามันก็เป็นพวกเดียวกัน หรือว่าถ้าจะอุปมาแล้วความฟุ้งซ่านความโกรธมันเป็นไฟ ตัณหามันก็เป็นเชื้อเพลิง

เราจะดับไฟแต่เราใส่เชื้อเพลิง มันก็ยิ่งลุกกันใหญ่ เราจะสังเกตได้ถ้าหากว่าฟุ้งแล้วไปกำหนดด้วยความอยากให้มันหายอยากจะสงบ มันจะรู้สึกฟุ้งซ่านมากขึ้น มันจะเกิดความเดือดดาลใจคับแค้นใจมากขึ้น จะรู้สึกว่าไม่เป็นดังใจ พอไม่เป็นดังใจมันก็ยิ่งฟุ้ง มันยิ่งโกรธยิ่งไม่สบายใจ โกรธใจตัวเอง โกรธตัวเองว่าทำไมทำไม่ได้สงบ ฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญ มันเป็นไฟด้วยกันมันเป็นเชื้อกัน

เพราะฉะนั้นเวลาฟุ้ง กำหนดดูความฟุ้งด้วยความวาง ต้องสังเกตให้ดีว่ากำหนดด้วยความปล่อยวางให้เป็น คล้าย ๆ ดูเขาไปเฉย ๆ อย่างงั้นแหละ ที่เขาแสดงอาการฟุ้งอาการเร่าร้อน ดูเขาไปด้วยความอดทนวางเฉย ส่วนมากเรามันจะทนไม่ไหว กระสับกระส่ายโกรธเกลียดชัง ฉะนั้นเราต้องอดทนในระยะแรก ๆ แล้วเราจะดับไฟได้ เหมือนกับว่าไฟมันกำลังลุก เราจะดับไฟเราก็ต้องหันหน้าเข้าไปมันก็ต้องเจอความร้อน ถ้าเราหลบเลี่ยงไม่อดทนมันก็ดับไม่ได้

เราหันไปดูกิเลสนี่ ไปดูโทสะไปดูความฟุ้งซ่าน มันรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันร้อน ก็ต้องอดทน วางเฉย ข่มใจ ควบคุมให้ปรกติ ไม่กระวนกระวายด้วย ไม่กระสับกระส่ายด้วย ไม่เกลียดชังด้วย ก็จะเป็นการดับไฟที่ถูกต้อง ไฟก็จะคลี่คลายจะมอดให้ดูฉะนั้นไฟเมื่อมันลุกมามาก แล้วจะให้มันดับทันทีมันก็ไม่ได้ ก็ค่อย ๆ ดับลง มันก็ยังมีความร้อนอยู่จนกว่ามันจะดับสนิทมันก็เย็น

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันต้องมีขันติความอดทน มีวิริยะพากเพียร มีการพิจารณาการใส่ใจ การปล่อยวาง การวางท่าทีอย่างถูกต้อง ท่าทีที่ถูกต้องก็คือการรู้จักวางเฉย รู้จักปล่อยวาง รู้จักทำให้เป็นปรกติ กำหนดเข้าไปรู้ทุกข์นี่จะต้องวางใจเป็นปรกติไม่กระวนกระวายไม่กระสับกระสาย ไม่ยินดียินร้ายด้วย แล้วสภาวธรรมเหล่านั้นเขาก็จะคลี่คลายตัวให้เห็น เปลี่ยนแปลงให้เห็น จางคลายให้เห็น ดับไฟให้เห็น

หน้าที่ของการปฏิบัติคือการเข้าไปเรียนรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีหน้าที่ไปดับมันหรอก จริงอยู่เป้าหมายผลรับผลสุดท้ายก็คือสามารถจะดับไฟสิ้นเชิง แต่ว่าระหว่างที่ทำวิธีการดับนี่ไม่ต้องไปคิดให้มันดับ แต่ทำหน้าที่ไปให้ถูกต้องคือ เรียนรู้ก่อนให้รู้จักสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง เขาเกิดอย่างไร เขาปรากฏอย่างไร เขามีเหตุมีปัจจัยกันอย่างไร แสดงอาการอย่างไร ก็ดูไปอย่างนั้นน่ะ ดูเขาด้วยความวางเฉยน่ะเป็นวิธีการดับ แต่ถ้าดูด้วยความไม่วางเฉยมันเป็นการไม่ใช่เอาน้ำไปดับอย่างเดียว มันเอาเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย น้ำด้วยน้ำมันด้วย ก็เลยดับได้ยากหรืออาจจะดับไม่ได้ ฉะนั้นต้องดูด้วยการวางเฉย การดูด้วยความวางเฉยนี่เรียกว่ามันจะเป็นน้ำล้วน ๆ เป็นสิ่งที่จะดับไฟ

ฉะนั้นนิวรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กามฉันทนิวรณ์ ซึ่งเกิดมาจากความตรึกนึกความดำริความคิดความตรึกขึ้นมาก่อน ไม่รู้ตัวทีแรก หรือรู้ตัวก็ปล่อยให้เพลิดเพลินกับความคิดเหล่านั้น กามฉันทะก็เกิดขึ้น ถ้าหากว่ารู้ทันไม่ปล่อยให้กระแสจิตเป็นไปด้วยความตรึกนึกมันก็ดับลง รู้ความตรึกนึกเสียมันก็ดับลง แต่ถ้าหากว่าปล่อยแล้วอาการมันเกิดขึ้นแล้วก็ถือว่าไฟมันลุกแล้ว ก็ต้องกำหนดดูไฟที่มันร้อนมันแรงมันมีปฏิกิริยาอย่างไร ไฟคือราคะ ราคะก็เป็นไฟ โทสะก็เป็นไฟ โมหะก็เป็นไฟ

มันให้ความร้อนให้ความเดือดร้อนในจิตใจ ก็ต้องดับด้วยการไม่นึกว่าจะให้มันดับ คือดับด้วยการรู้อย่างปรกติรู้อย่างปล่อยวาง สังเกตเข้าไปเฉย ๆ เขาเกิด เขาจาง เขาคลาย หรือว่าทำอย่างนี้ อ้าว มันเกิดแรงขึ้น ปล่อยวางอย่างนี้มันจางลงมันดับลง ก็ให้เห็น มันดับไปแล้วก็รู้อาการธรรมชาติของจิตใจที่ว่างเปล่าจากกิเลสเหล่านั้น จิตที่กิเลสมันหลุดไป นิวรณ์มันหลุดไปจากจิตใจ มันคลายมันสิ้นไปจากใจมันมีสภาพอย่างไร มันโปร่งมันเบามันผ่องใสมันเยือกเย็นก็ดูรู้เท่าทัน

การกำหนดอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการดูสภาพธรรม เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูจิตใจของตนเองที่มันจะมีกิเลสสภาพธรรมต่าง ๆ เข้ามาเกิดร่วมก็อยู่ด้วยกัน นิวรณ์กับจิตมันเกิดด้วยกัน ราคะก็เกิดอยู่ที่จิต โทสะก็เกิดอยู่ที่จิต โมหะก็เกิด ฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญสงสัย ท้อถอยก็อยู่ที่จิต สิ่งเหล่านี้มันเป็นเจตสิก ราคะโทสะโมหะฟุ้งซ่านรำคาญสงสัยเป็นเจตสิก ธรรมที่เกิดร่วมอยู่กับจิต แล้วแต่เราจะพิจารณาในแง่ไหน พิจารณาในแง่สภาพธรรมในจิตเรียกว่าเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าพิจารณาเอาจิตมาเป็นประธานว่า จิตนี้มีสิ่งใดประกอบก็เรียกว่าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หรือจะดูจิตเฉพาะจิตตรง ๆ ตรงตัวก็ดูสภาพของจิตที่รับรู้อารมณ์ ดูกิริยาของจิต ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่าดูลักษณะของจิต แต่ถ้าพูดภาษาที่สื่อแล้วเข้าใจได้ง่ายก็คือ สังเกตกิริยาของมัน จิตมันมีการเคลื่อนไหวและการรับรู้อารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์รับรู้อารมณ์ ส่วนคุณสมบัติในจิตที่มันมีอาการปฏิกิริยาเรียกว่าเป็นสภาพธรรม พิจารณาธรรมในธรรม ถ้าเราดูที่กิริยาของจิตเห็นจิตรับรู้อารมณ์ รู้อารมณ์หมดไป รู้อารมณ์หมดไป แกว่งไกวไหวสู่อารมณ์นั้นหมดไป รู้อารมณ์นี้หมดไป อันนี้ก็จะดูยากขึ้น ดูลักษณะดูกิริยาของจิตที่มีสภาพรับรู้อารมณ์

ถ้ามันหยาบขึ้นเราก็ดูง่าย อ้อ นี่จิตมันคิดนึก จิตที่มันคิดในเรื่องนั้น เรื่องนั้น ๆ เรียกว่ามันหยาบขึ้น ก็รู้ความคิด รู้ความคิดเช่น จิตมันคอยตรึกนึกไปในเรื่องกาม ก็รู้ทันหรือมันคิดเพลินไปถึงคนนั้นคนนี้ต่าง ๆ ก็รู้ที่ความคิด อย่างนี้ก็เรียกว่ารู้ที่จิตเหมือนกัน แต่ถ้าจิตมันละเอียดขึ้น เมื่อประพฤติปฏิบัติจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมีสติมีสมาธิครองอยู่ จิตไม่ได้คิดนึกอะไรออกไป

จิตกำลังมีสติรับรู้ดูสภาวธรรมอยู่หรือว่าขณะนั้นจิตมีความสงบอยู่ จิตกำลังมีอารมณ์เป็นความว่างอยู่ก็ตาม ก็จะดูยากขึ้นอีกเพราะว่าจิตไม่ได้คิดนึกอะไร จิตกำลังมีอารมณ์เป็นความว่างอยู่ก็ตาม ก็จะดูยากขึ้นอีกเพราะว่าจิตไม่ได้คิดนึกอะไร จิตกำลังรับรู้สภาวะก็เป็นสภาพของจิตที่กำลังรับรู้อารมณ์เช่นเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาต้องกำหนดต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้ไป

ที่นี้ปัญหาของผู้ปฏิบัติบางท่านก็เกิดความเคร่งเครียดทางร่างกาย ร่างกายมีความเคร่งตึงโดยเฉพาะถ้าปฏิบัติมาหลาย ๆ วันก็จะรู้สึกว่า บางคนก็มีความเคร่งตึง เคร่งตึงที่ศีรษะใบหน้าลำคอ บางคนก็แน่นตึงหน้าอก อันนี้ก็เกิดจากการที่การเจริญสตินั้น ขาดความเป็นปรกติมาแต่ต้น คือทำสติด้วยการเข้าไปบังคับเข้าไปจดจ้องบังคับ เช่น บังคับลมหายใจโดยไม่รู้ตัวก็เกิดความอึดอัดแน่น หรือบางคนก็เจ็บที่ทรวงอก เจ็บที่หัวใจกล้ามเนื้อหัวใจ บางคนเพ่งจิตแต่ไปจับที่หัวใจก็เจ็บ หรือว่ากำหนดลมหายใจไม่ได้ผ่อนคลาย ลมเข้าไปก็ไปค้าง ลมเข้าไปใหม่เข้าไปยันกันไปก็เกิดการเจ็บ

ล้วนแล้วแต่เรื่องของการที่ไม่ได้ปล่อยวางให้เป็นปรกติ การดูด้วยการจับจ้องบังคับจะเอาให้ได้โดยไม่รู้ตัวว่า นั่นคือการบังคับที่จะจับอารมณ์จับสภาวะให้ทันให้ทัน ก็เกิดการเข้าไปเข้มงวด ระบบสมองก็เกิดความบีบตัวให้เกิดความตึงให้เกิดความเกร็งในสมอง กลายเป็นการปฏิบัติแล้วยิ่งเครียด ก็เป็นการไม่ถูกต้อง ที่จริงการเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องของการคลี่คลายความเครียดในตัว ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้วสมองจะต้องคลี่คลาย จิตใจจะต้องโปร่งจะต้องเบา ถ้าปฏิบัติแล้วสมองเกร็งเคร่งเครียดแสดงถึงว่าไม่ถูกต้องในการเข้าไปวางท่าที

...........แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าใครจะแก้ให้ได้ ไม่มีใครเขามาทำให้เราได้ เราฟังคำสอนแล้วเราก็ต้องแก้ของเราเองได้ ต้องคลี่คลายต้องวางให้นุ่มนวลละเอียดในการไม่ฝืน คือถือหลักว่าจะต้องไม่ฝืน จะต้องไม่มีการเข้าไปบังคับ ไม่มีการฝืนไม่มีการบังคับโดยเด็ดขาด ถ้ามีการบังคับนิดหนึ่งก็จะเกิดแล้วถ้าเรามีอาการที่ติดอยู่ 


ที่มา @ สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

No comments:

Post a Comment