Sunday, March 18, 2012

รู้แจ้งเห็นจริงสิ่งปัจจุบัน ตอน 1 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)

นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังธรรมะและขอให้ได้ปฏิบัติไปด้วย เจริญสติเจริญภาวนาพร้อมกับการฟังธรรม ในขณะที่ฟังธรรมอยู่ก็สามารถที่จะปฏิบัติไปในตัวได้เพราะว่าสภาวธรรมก็กำลังปรากฏอยู่ เพียงตั้งสติใส่ใจระลึกรู้พิจารณาสภาวธรรมที่ปรากฏดีกว่าเราฟังแบบทิ้งขว้างไป เราอาจจะใส่ใจดูในตัวเองอาจจะไม่ต้องตั้งใจวินิจฉัยในสิ่งที่ฟังมากมายนัก แต่ว่าทรงสติ สัมปชัญญะให้อยู่กับตัวเองไว้สังเกตสภาพธรรมที่ปรากฏที่เข้ามาสู่ตัวของตนเอง ซึ่งในขณะนี้ก็มีเสียงผ่านเข้ามา

มีการได้ยินเกิดขึ้น มีกายนั่งอยู่ มีการเคลื่อนไหวในร่างกาย แม้ว่าจะนั่งอยู่นิ่ง ๆแต่มันก็มีการเคลื่อนไหวทางร่างกาย มีการเคลื่อนไหวเพราะมีการหายใจอยู่ตลอดเวลา มีการหายใจเข้ามีการหายใจออกตลอดเวลา ทำให้มีการผลักดันให้เคลื่อนไหว ให้รู้สึกตึงรู้สึกหย่อนคลายจะเป็นที่ทรวงอกหรือหน้าท้องก็ตาม หรือว่าในส่วนของผิวกายภายนอกกายก็จะมีความรู้สึกจากที่มีลมพัดมากระทบเกิดความรู้สึกขึ้น นี้คือธรรมชาติที่มีอยู่จริง กำลังฟังธรรมอยู่ขณะนี้ก็มีสภาวะต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างนี้

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีส่วนของจิตใจที่เคลื่อนไหวไปมาในการรับรู้อารมณ์ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะพิจารณาได้ในขณะนี้ และเวทนาที่เกิดขึ้นนี่ก็เป็นที่ตั้งของจิตได้ เอาสติเอาจิตไปเกาะไปจับรู้ไว้ที่เวทนาคือความรู้สึก จะเป็นเวทนาที่กายหรือจะเป็นเวทนาที่เกิดที่ใจก็ตาม ทรงสติเกาะรู้อยู่กับเวทนานั้น นี้คือการปฏิบัติธรรม คือการเจริญกรรมฐานเป็นการเจริญภาวนา ทำได้จะเห็นว่าทำได้ทุกขณะกำลังฟังกำลังพูดกำลังนั่งนิ่งหรือจะเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็สามารถที่จะเจริญสติอยู่ได้

อย่างที่อาตมาพูดนี่ก็เจริญสติอยู่ปฏิบัติอยู่ พูดไปก็เจริญสติไป ใส่ใจสังเกตในความรู้สึกเพราะว่าก็จะมีการเคลื่อนไหวในระบบของการพูด ปากริมฝีปากต้องเคลื่อนไหว จึงมีการเคลื่อนไหวมีความตึงความไหว แล้วก็ความรู้สึกจากระบบของการหายใจมันก็สลับแทรกซ้อนกันอยู่ แล้วก็การที่จะมีการปรุงแต่งคำพูด พูดออกมาน่ะ ตัวปรุงแต่งคำพูดเป็นนามธรรมปรากฏอยู่ขณะนี้

ทำสติระลึกใส่ใจสังเกตไป ก็มีเวทนาปรากฏ สติจับรู้อยู่กับเวทนา จะมีความรู้สึกมันเป็นความไม่สบายกาย มีความรู้สึกอยู่ จะเป็นที่สมองเป็นที่ทรวงอกเป็นที่แขนขา มีอาการเป็นความรู้สึกอยู่ก็ทำสติรู้ไป จะเห็นว่ามีสภาวะแทรกซ้อนสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ ทรงสติไว้นิ่งๆเฉยๆ เสียงก็มีได้ยินก็มี พูดไปมันก็มีเสียง คนพูดก็ได้ยินเสียงๆตนเอง มีเสียงมีการเคลื่อนไหว

คนฟังก็เหมือนกัน ก็ได้ยิน มีเสียงมีได้ยิน เราไม่ต้องไปเพ่งเล็งเสียงเกินไป อย่าไปตั้งใจที่จะจ้องดูกำหนดเสียงกำหนดได้ยิน ใส่ใจให้มันอยู่กลาง ๆ อยู่ในความรู้สึกที่ตัวเอง มันจะนิ่งทรงเกาะรู้อยู่กับความรู้สึกที่กายก็รู้อยู่ แต่มันจะรับสิ่งแทรกซ้อนสลับเข้ามาเอง มีเสียงมีได้ยินมีการเคลื่อนไหว มีใจที่จะนึกคิด จะเห็นว่าท่านทั้งหลายนั่งอยู่นิ่งๆแต่ว่ามันก็ไม่นิ่ง ทำกายนิ่ง ๆ อยู่แท้ ๆ แต่มันก็ไม่นิ่ง ส่วนต่าง ๆ ของกายก็มีการเคลื่อนไหว เราจะดูความนิ่ง เห็นความไม่นิ่งเกิดขึ้น จะเคลื่อนไหวทั้งส่วนที่กายที่จิต ดูไปพิจารณาไป

บางขณะของจิตก็ไปรับรู้ในส่วนของสมมุติ ท่านทั้งหลายก็ตัดสินใจได้ว่านี่คือสมมุติ จิตไปรับรู้อารมณ์เป็นสมมุติ ดู พิจารณาให้เป็นให้ออกว่า ขณะนี้อารมณ์ของจิตเป็นสมมุติบัญญัติ มีการฉายเป็นสัณฐานขึ้นมา จะเป็นสัณฐานของกายจะเป็นสัณฐานของบางส่วนของกายจะเป็นท่อนแขนท่อนขาหรือใบหน้า นี่ก็ถือว่าจิตไปรับสมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือมันจะเป็นทั้งทรวดทรงทั้งกายทั่วตัว มันจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม ถ้ามันปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตในลักษณะที่มีสัณฐานอยู่ มีรูปร่าง นั่นคือให้รู้ว่านี้คือสมมุติ

บางทีมันก็เป็นสัณฐานของภายนอกตัวออกไป จิตมันปรุงแต่งมันนึกมันคิดมันก็เป็นสัณฐานเป็นมโนภาพของสิ่งภายนอก เช่น เป็นรูปร่างสถานที่ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลคนอื่นสัตว์อื่น นั่นก็คือสมมุติแล้ว มันเป็นธัมมารมณ์ มันเป็นอารมณ์มากระทบทางมโนทวาร เป็นอารมณ์ของจิตอยู่ แต่ว่าอารมณ์แบบนี้มันเป็นสมมุติ มันอาศัยสัญญาความจำเกิดขึ้น สร้างมโนภาพขึ้นมา

ถ้าท่านทั้งหลายไม่สังเกตให้ดีก็จะอ่านไม่ออกว่าในจิตจิตยังมีการรับสมมุติบัญญัติอยู่เรื่อย ๆ ก็รู้ไว้นี่คือสมมุติ ซึ่งการที่จะปฏิบัติเข้าสู่วิปัสสนาก็จะต้องคัดเข้าสู่สภาวปรมัตถ์ คือให้พ้นจากรูปร่างสัณฐานนั้นออกไป แม้แต่รูปร่างสัณฐานกายของตัวเองก็ให้พ้น ทำสติให้จิตมันพ้นมันหลุดพ้นจากทรวดทรงสัณฐานของกาย จะเป็นส่วนย่อยหรือจะเป็นทั้งตัวก็ตามให้มันหลุดไป คือมันเข้าไปสู่สภาวะหรือธรรมชาติที่ปลอดจากรูปร่างสัณฐาน นั่นคือจะเป็นปรมัตถ์

นอกจากนี้ก็ต้องคอยสังเกตดูว่ามีสมมุติในส่วนความหมายปรากฏไหม ซึ่งก็เป็นอารมณ์ของจิต เป็นธัมมารมณ์อีกเหมือนกัน แต่มันก็เป็นสมมุติ อารมณ์ของจิตเป็นความหมายนั่นก็คือจิตมันตรึกมันนึก มันอาศัยการปรุงแต่งอาศัยเจตสิกปรุงแต่ง มีสัญญามีวิตกมีวิจารปรุง จิตก็ไปรับความหมายเป็นความหมายเป็นเรื่อง ถ้าความหมายนี้มันต่อ ๆ กันไป

มันขยายออกไปก็เป็นเรื่องเป็นราวที่เรียกว่าคิด ที่คิดไปน่ะก็คือคิดไปถึงเรื่องราวเป็นอดีตเป็นอนาคต ไอ้ที่เรื่องราวนั้นก็จะเป็นสมมุติที่เป็นสัณฐานบ้างเป็นความหมายบ้าง แล้วจิตก็นึกเป็นภาษาเป็นคำพูดแล่นไป ก็ให้รู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นสมมุติเป็นบัญญัติที่มันมีความหมายอยู่ ที่มันเป็นภาษาเป็นชื่อเรียกอยู่ เรียกชื่อไปเรื่อย ๆ น่ะมันเป็นสมมุติ

การปฏิบัติก็จะต้องน้อมเข้ามาสู่ปรมัตถ์ ให้ตรงต่อปรมัตถ์จริง ๆ โยนิโสมนสิการน้อมรู้ตรงใส่ใจตรงต่อปรมัตถ์ รู้จักปรมัตถ์เข้าใจปรมัตถ์ หลุดจากสมมุติบัญญัติมาสู่ปรมัตถ์ให้ถูก รู้ตรง ๆ สัมผัสตรงก็ต้องอาศัยการประคับประคองสติประคองจิตให้รู้เข้ามาที่สภาวะ คือสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่จริงที่เป็นปรมัตถ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่รูปร่างสัณฐานไม่ใช่ชื่อไม่ใช่ความหมาย มันเป็นสภาวะคือมันเป็นสิ่งที่มีที่เป็นอยู่จริง ๆ ให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูได้ วางจิตใจให้มันยุติธรรม วางจิตวางสติให้มันยุติธรรม

คืออย่าเอนเอียงไปในการที่จะเสริมไปในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง วางจิตใจให้มันเที่ยงตรงให้มันยุติธรรม เพื่อจะได้วินิจฉัยให้ถูกต้องเพื่อจะได้มองได้ออกว่าอันไหนของปลอมอันไหนของจริง ถ้าคล้อยตามไปมันก็จะถูกกลืนกันไปกลมกลืนไปเป็นสมมุติก็ไม่รู้ว่าเป็นสมมุติ จิตหลงไปสู่อดีตเป็นสมมุติเป็นบัญญัติ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัญญัติ บางครั้งมันหลอกมันเป็นมายา มันเป็นมายา จิตมันหลอกให้หลงว่าเห็นจริงรู้จริงรู้ปรมัตถ์ แต่ไม่ใช่ มันหลอกคือมันคิดเอาเอง เป็นความคิดนึกเอาเอง

เหมือนคนที่ฝันน่ะ ขณะที่นอนหลับแล้วก็ฝันว่าลุกขึ้นมานั่งแต่ก็ไม่ได้นั่งจริง แต่ก็หลงว่าตัวเองนั่งจริง ๆ ในขณะนั้น เช่น บางคนนั้นเกิดใจมันตื่นขึ้นในขณะฝันเนี่ย จิตขึ้นสู่วิถีแล้ว มันเกิดปรุงแต่งเกิดความกลัวอะไรขึ้นมา แล้วก็อยากจะลุก แล้วก็รู้สึกว่าจะลุกก็ลุกไม่ขึ้น พยายามจะยกขายกแขนก็ยกไม่ขึ้น บางทีจิตมันก็หลอกว่า ยกแขนขึ้นมาแล้ว ยกขาขึ้นมาแล้ว แต่ความจริงก็ไม่ได้ยกจริง แต่เจ้าตัวนั้นจะมีความรู้สึกว่าเรายกแล้ว ขาขึ้นมาแล้ว นี่มันหลอกได้จิต ถ้าเราไม่วางจิตให้มันยุติธรรมจริง ๆ ก็จะหลงไปกับสมมุติ อันนี้อุปมาให้ฟัง

ขณะที่ตื่นอยู่กำลังปฏิบัติอยู่นี่ก็เหมือนกัน มันก็ถูกหลอกได้ ถูกหลอกให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แม้แต่ว่าการเห็นความเกิดดับของรูปของนามบางทีก็ถูกหลอก อาศัยว่าคอยตั้งใจจะดูความเกิดดับดูสิ่งที่เกิดที่ดับไป ที่เกิดที่ดับไป แล้วจิตมันก็สร้างให้เห็นว่ามันเกิดมันดับ แต่ที่จริงไม่ได้เห็นจริง ไม่ได้เห็นความเกิดดับจริงแต่มันเป็นมายาขึ้นมา นี่ก็ถูกหลอกอีก ฉะนั้นต้องมีความละเอียดลึกซึ้ง

ฉะนั้นยิ่งบุคคลที่ไม่มีความแยบคายในการปฏิบัติ ถูกหลอกไปไกล ๆ หลอกไปยาว นั่งไปมันก็เลย... อย่างเช่น ผู้ที่เห็นเป็นภาพต่าง ๆ ลืมตัวเองกลายเป็นนึกเห็นว่าตัวเองออกไปอย่างนั้น เดินไปอย่างนั้น ไปพบอย่างนั้น มีภาพมีเจอเหตุการณ์อย่างนั้น นั่งฝัน ที่เรียกว่านิมิตเกิดขึ้น นี้อาศัยที่ว่าจิตมีสมาธิอยู่ภาพก็ชัดเจนขึ้น นั่งไปผ่านไปรู้สึกตัวหมดเวลาขึ้นมา ก็เลยบอกว่า โอ นั่งแล้วเห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่าง ๆ แต่ความจริงแล้วนั่นคือ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับความฝันกับความคิดนั่นเอง จิตคิดแล่นไปแล้วก็เป็นมโนภาพเป็นภาพ ถูกหลอกอีก จิตถูกหลอกไป ไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนานี้มันต้องฉุกรู้อยู่เสมอ ต้องมีสติในการฉุกรู้จิตให้มันกลับรู้เป็นปัจจุบัน

ท่านจึงกำชับไว้เสมอว่าการเจริญวิปัสสนานี่มันต้องให้ได้ปัจจุบัน ต้องให้ได้ปัจจุบัน รู้สภาวะที่กำลังปรากฏเป็นไปอยู่ เรียกว่าปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น กำลังหมดไป กำลังดับ รู้ตรงนั้น ปัจจุบันคือกำลังปรากฏ ถ้ามันผ่านไปแล้วก็เป็นอดีต ก็อย่าไปดูอย่าไปห่วงอดีต บางคนเข้าใจว่าจะให้มันมีปัญญาก็จะต้องดูให้ชัด ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมันปรากฏหมดลงแล้ว แต่ไปจ้องดูเพื่อจะวินิจฉัยให้มันแจ่มแจ้ง มันก็เลยกลายเป็นสมมุติขึ้นมา อารมณ์เป็นสมมุติขึ้นมา สิ่งที่ปรมัตถ์น่ะเขาดับไปแล้ว แต่พยายามที่จะไปวินิจฉัยก็ไปวินิจฉัยเงาของมัน คือสมมุติ

แม้จะวินิจฉัยไปในเรื่องสอดคล้องกับความจริง คือวินิจฉัยไปว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันบังคับไม่ได้ แต่มันเป็นการนึกเอาคิดเอา อย่างนี้มันก็เรียกว่าตกจากปัจจุบัน เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่าปัญญาที่จะรู้แจ้งนั้นน่ะมันรู้เอง มันรู้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเสริมที่จะต้องคิดนึกอะไรขึ้นมา ยิ่งไปห่วงไปคิดมันก็เท่ากับตกจากปัจจุบัน ไม่ทันต่อสภาวะที่มันซ้อน ๆ ขึ้นมาที่ปรากฏชั่วนิดเดียวแล้วผ่านไป นิดเดียวแล้วผ่านไป

ฉะนั้นพึงทำสติเจริญสติให้มันอยู่กับปัจจุบันไว้ อยู่กับรูปนามที่เป็นปัจจุบันจริง ๆ คือปัจจุบันที่มันสั้น ปัจจุบันที่สั้นที่สุดชั่วแว้บเดียว ปัจจุบันชั่วแว้บเดียว เวียบเดียวๆ ให้มันรู้แค่นั้น มันจะไม่ชัดก็ชั่งมันเพราะมันหมดสิทธิ์แล้ว มันแว้บแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว หมดสิทธิ์ที่จะไปพิสูจน์มันแล้วเพราะมันผ่านไปแล้ว พึงฉุกให้มันรู้อันใหม่ที่จะเกิดต่อขึ้นมา ๆ เอาแค่นั้นแหละ รู้แค่อันใหม่ ๆ ๆ ที่มันผ่านมา แม้ว่ามันยังไม่ชัดว่าอะไรเป็นอะไรยังไงก็อย่าไปคิดเอา ถ้าคิดเอาแล้วมันถูกหลอกไปดูเงาไปดูมายาของมัน

ไอ้สิ่งที่ปรากฏต่อ ๆ ๆๆ มามันจะไม่รู้ถูกผ่านไปหมด ไม่รู้ นี่คือการไม่ยุติธรรมคือเราเอนเอียงไปไม่ตั้งหลักให้ดี สติรับรู้แล้วไม่ตั้งหลักให้ดีมันก็ไป ผสมไปกับอารมณ์สมมติไปเลย จิตรวมตัวไปกับอารมณ์ที่เป็นสมมติตกไปสู่อดีต มันแป๊บเดียวมันก็สร้างสมมติขึ้นมาแล้ว เป็นความหมาย พอปรากฏเป็นความหมายขึ้นมาก็สมมุติเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเราไปเสริมความคิดขึ้นไปอีกว่าอย่างนั้นอะไรอย่างนี้ไปอีกหลายช่วงหลายขณะจิต ไอ้สิ่งที่เป็นปัจจุบันที่มันต่อ ๆ ต่อขึ้นมาไม่รู้แล้ว

ฉะนั้นถ้าหากว่าสติรับรู้สภาวะที่ปรากฏไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไร ถ้าไปเรียกชื่อขึ้นมาก็คือนั่นตกจากปรมัตถ์ไปสู่สมมุติ จิตที่จะเรียกชื่อขึ้นมานี่จิตก็จะต้องรับสมมุติ ไม่งั้นเรียกไม่ออกนะ จิตจะเรียกชื่อไม่ได้ จิตเรียกชื่อขึ้นมาจิตก็รับสมมุติแล้ว สมมุติโดยความเป็นชื่อแม้ชื่อนั้นจะชื่อว่ารูปชื่อว่านาม ก็คือสมมุติ เมื่อกำหนดรู้อารมณ์อันใดแล้วก็พยายามที่จะเรียกชื่อว่า นี่คือรูป นี่คือนาม ก็เสียเวลาตกไป ขณะจิตนั้นตกไปหมด ปัจจุบันที่เกิดแว้บๆๆๆ เข้ามานั้นไม่รู้แล้ว

ผ่านไปตั้งเยอะ เสียเวลาตกจากปัจจุบันไปสู่สมมุติ นั่นเพราะว่าเราอาจจะเข้าใจว่า ถ้าไม่เรียกชื่อไปอย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าไม่รู้ เป็นความไม่รู้ก็จำเป็นจะต้องเรียกชื่อเพื่อจะให้รู้ว่านี่คือรูปนี่คือนาม แต่มันเป็นการรู้เข้าไปสู่สมมุติ ความจริงในขณะที่สติสัมผัสสภาวะที่ปรากฏนั้นเรียกว่าเข้าไปรู้รูปแล้ว เข้าไปรู้นามแล้ว สติเข้าไปสัมผัสสภาวะจริงแล้ว รูปนามจริงๆ มันไม่ประกาศในความเป็นชื่อ พอเป็นชื่อมันไม่ใช่รูปแล้วไม่ใช่นามแล้ว

ฉะนั้นขณะที่สติเข้าไปสัมผัสรู้ลักษณะของรูปของนามต่าง ๆ มันจะไม่มีชื่อในขณะนั้น พอจิตไปรับชื่อนั่นแสดงว่า จิตจะต้องเปลี่ยนจากอารมณ์ปรมัตถ์มาสู่อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ มันมีความละเอียด การปฏิบัติจึงต้องสังเกตให้แยบคาย มีหน้าที่ว่าพยายามระลึกรู้ให้ตรงต่อปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบันอยู่ พยายามให้รู้ปัจจุบัน คือไม่ตกไปสู่อดีตอนาคตแล้วก็คัดเข้าสู่ปรมัตถ์ก็อยู่เสมอ ๆ มันก็ต่อสู้กันรบกันอยู่ บางขณะจิตมันก็คอยจะไปสู่สมมุติ คอยจะไปนึกความหมายขึ้น

คอยจะไปเรียกชื่อขึ้น บางขณะสติระลึกตรงก็มาสัมผัสปรมัตถ์ ขณะที่สัมผัสปรมัตถ์รูปร่างก็หายชื่อก็หายความหมายก็หายในขณะนั้น แต่มันรู้ปรมัตถ์ รู้ไป ๆ เดี๋ยวมันก็หลุดไปสู่สมมุติอีก ก็ประคับประคองคัดเข้าสู่ปรมัตถ์อีก ซึ่งการที่จะคัดไปคัดมานี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องบีบบังคับ มันก็บังคับไม่ได้แต่มันเป็นไปโดยที่ว่าอาศัยความเข้าใจเลือกถูก น้อมรู้มาถูกต้อง คือเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ตรง จูนไปตรงปรับได้ตรง ประคับประคองได้ตรง

ฉะนั้นในขณะนี้ที่เราฟังอยู่เราพูดอยู่เราคิดอยู่ ที่ว่าเป็นเรา ๆ นี้ ที่จริงแล้วก็คือเพียงธรรมชาติต่างๆ พิสูจน์ลงไปดูลงไปสังเกตลงไปใส่ใจลงไปที่กายนี้ที่จิตใจนี้เบา ๆ ใส่ใจรู้ลงไปเบา ๆ นิ่ง ๆ ไม่ได้ไปกด อย่าไปกด กดนี้หมายถึงว่าบังคับจิตหรือว่าตัวรู้หรือสติหรือผู้รู้ก็แล้วแต่ให้ไปจ้องจับอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คือบังคับให้มันอยู่อย่างนั้นอยู่อย่างนี้ถือว่าขาดความเป็นปรกติ

อาจจะใช้ได้ในการฝึกใหม่ ๆ ฝึกใหม่ ๆ ก็ดึงรังเอาจิตมาดูลมหายใจไว้ คิดไปก็ดึงกลับมาลมหายใจไว้ หรืออาจจะดูที่ไหนก็ตาม เช่น รั้งมาดูที่กายนั่งหรือที่หน้าท้อง ดึงกลับมา ๆ แต่ว่าเมื่อเราฝึกไปมากขึ้น เลื่อนขั้นขึ้นก็จะต้องปรับให้มันเป็นปรกติ คือไม่ไปดึงไปรั้งไปผลักไปไสไปอะไรทั้งหมด ให้มันเป็นไปของมันโดยธรรมชาติ จิตมันจะไปรู้ตรงไหนก็รู้กันตรงนั้นแหละ รู้ก็รู้กันตรงนั้น

บางครั้งมันจะมาจับรู้ในสมองก็รู้ที่ในสมองนั่นแหละไม่ต้องเบี่ยงเบนไปที่อื่น มันอาจจะไปก็ไป กลับมารู้ส่วนใดก็รู้ส่วนใด แต่การที่เข้ามารู้ในสมองนี้ต้องมีความชำนาญ ชำนาญตรงที่ไม่บังคับ ชำนาญในการที่จะผ่อนตามไม่บังคับ เพราะถ้าหากมีการบังคับนิดหนึ่งนี่จะเกิดการเกร็งขึ้นในสมอง เพราะว่ามันเป็นการมารู้ใกล้ชิดมาก คือมารู้ที่จุดของมัน เพราะความรู้มันไปผ่านสมอง ผ่านสมองมันก็เหมือนกับว่ามีกองบัญชาการอยู่ในสมอง เมื่อทำสติรู้ใกล้ชิดเข้าไปที่ตัวมันเองตัวรู้เอง

บางทีมันไปรวมอยู่ในสมองไปรวมอยู่ในศีรษะ เหมือนกับว่าตัวรู้มันไปอยู่ในศีรษะอยู่แล้วก็ไปสัมผัสความรู้สึกในสมอง เห็นเวลาคิดก็มีการเคลื่อนไหวคือรู้สึกว่ามันเคลื่อนไหวในสมอง มีการไหวการตึง การเคลื่อนไปตามกระแสจิต คือจิตที่มันกระชั้นเข้ามารู้ที่ตัวมันเองน่ะ ถ้าไม่ปรับปรกติจริง ๆ แล้วมันจะเกิดความเกร็งในสมองได้ มันตึงขึ้นมา เอาสติรู้ในความตึงแต่รู้แบบผ่อนรู้แบบไม่บังคับ ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะคลาย ความตึงความเกร็งในสมองจะคลายตัวหมด

บางทีมันมาจับรู้ที่หน้าผากเพราะมันเป็นจุดศูนย์ของการที่จะดู คนเราเวลาจะใช้ตาดูอะไรมันจะอยู่ทางส่วนทางตา มันก็ออกไปทางส่วนหน้าใบหน้าทางศีรษะ แม้ว่าหลับตาลงไปมันก็ยังฉายออกไปทางนั้นอยู่ จะเป็นช่วงบริเวณหน้าผาก บางครั้งจิตจะไปพุ่งไปเหมือนกับจิตมันพุ่งออกไปทางใบหน้าทางหน้าผาก บางทีมันไปจับอยู่ที่นั้น ก็รู้ที่นั่นน่ะ รู้แต่ไม่บังคับเข้าไปจับความตึง จะเป็นหน้าผากตึง แล้วก็สลับความรู้สึกต่าง ๆ ดูกระแสจิตที่เคลื่อนไหว ถ้าเราดูไม่เป็นไม่ปรับผ่อนมันก็จะเกิดความตึงมากขึ้น ถ้าดูแบบปรกติดูปรับผ่อน ผ่อนคลายไม่บังคับ มันก็จะคลายตัวหมด

ฉะนั้นบางขณะมันก็เป็นสมมติขึ้นมาคือเป็นสัณฐาน เป็นสัณฐานของใบหน้าของหน้าผากของศีรษะ ก็รู้ว่ามันคือสมมุติ ก็คิดกลับไปสู่ความรู้สึก ต้องรู้ในส่วนของความรู้สึกที่ปลอดจากรูปร่าง แต่มันไม่มีใครที่จะสามารถรู้ปรมัตถ์ไปตลอด มันก็ไปรับสมมติ แต่ก็ให้รู้ ฉะนั้นสติที่มีสัมปชัญญะควบคู่อยู่ สัมปชัญญะนี่คือความรู้สึกตัว สัมปชัญญะที่มันมีความสามารถมันจะทำให้เกิดความรู้พร้อมทั่วถึงทั่วทั้งตัว

โพลงตัวอยู่ความรู้สึกทั่วตัว ความรับรู้น่ะ มันมีความรับรู้ทั่วถึงทั่วทุกส่วนของกายโดยไม่ต้องวิ่งไปดู โดยไม่ต้องเอาจิตวิ่งไปดูที่ขาที่หลังที่ใบหน้าที่นิ้วมือ ให้อยู่กลาง ๆ อยู่ แต่มีกระแสในการที่จะฉายไปรับรู้ทุกส่วนสัดทุกส่วนของกายเหมือนกับมันรู้พร้อมหมด เหมือนกับจิตมันเหมือนกับเป็นเรดาร์ในการที่จะจับอะไรที่จะผ่านมาทุกส่วนในรัศมีของมัน

จิตที่มันมีสัมปชัญญะมีสติสัมปชัญญะมันก็จะมีความโพลงตัวรู้พร้อมทั่วถึงทั่วตัว ทั้งส่วนของกายและก็ส่วนของจิต แต่มันก็จะมีการรับส่วนย่อยด้วย รู้ไปพร้อม ๆ กัน รู้ทั้งส่วนของกาย รู้ทั้งส่วนของจิต มันรวม ๆ ไปอยู่ รู้รวม ๆ ทั้งหมด แต่มันก็จะมีการรับส่วนย่อยด้วย จะเห็นสิ่งความรู้สึกที่กายมีการสลับสับเปลี่ยน สลับซับซ้อนเป็นความรู้สึกที่ซ้อนกันขึ้นมา ตรงนั้นตรงนี้ สลับสับเปลี่ยนทั่วตัว นี่ด้วยความรวดเร็วของมัน แต่เพราะความไวของจิตมันก็รับรู้

ที่นี้จิตมีสติชำนาญขึ้นเท่าไรก็จะเห็นความไวของสภาวะที่มันปรากฏสลับสับเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็ว ยิ่งในกระแสของจิตก็ยิ่งมีความไวยิ่งขึ้น คือสภาพรู้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินั้นต้องรู้ถึงจิต สติรู้เข้าไปรู้ถึงจิตใจ จิตคือตัวรู้ อาการในจิตเป็นอย่างไรก็ดู ก็อ่านดู อ่านอาการในจิตดูคือความรู้สึกนั่นน่ะ จิตมันสบายไหมสงบไหม มันผ่องใสหรือว่ามันขุ่นมัว มันขุ่น ๆ มันเศร้าหมองก็รู้สภาวะดูอาการนั้นไป สติไปจับดูอาการนั้น แต่ก็ไม่บังคับอยู่นะ มันก็จะรับรู้ส่วนอื่นด้วย ทางกายด้วยทางจิตด้วย 



ที่มา @ http://www.watmahaeyong.net
สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

No comments:

Post a Comment