Sunday, April 22, 2012

เรื่อง ... เกณฑ์วัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาหรือยัง

หนังสือวิปัสสนานุบาลเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่าวิปัสสนาที่ดีนั้น เริ่มต้นต้องสร้างพื้นฐานอันมั่นคงให้กับ
สติเสียก่อน คือเอาสติไปผูกอยู่กับลมหายใจที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เรากลับหลงไม่รู้อยู่ชั่วนาตาปี
นี่เอง

จากนั้นชี้ให้เห็นว่าวิปัสสนาที่ได้ผล และทำให้เกิดกำลังใจเป็นอันดีนั้น ควรแก้ปัญหาให้คุณได้
เช่นถ้าเป็นโรคเครียด คิดมาก ฟุ้งซ่านไม่หยุด ก็จะสบายขึ้น คิดน้อยลง ยุติความฟุ้งซ่านได้ตาม
ปรารถนา ไม่เห็นเหตุผลใดๆว่าจะต้องหวงความคิดไว้หรือกักขังให้ความคิดคงค้างอยู่ในหัวอย่างเปล่า
ประโยชน์ทำไม

แล้วลงเอยคือชี้ให้เห็นว่าถ้าสามารถเห็นปฏิกิริยาทางใจทั้งปวงโดยความเป็นสภาวะเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนน่ายึดมั่นถือมั่นสักอย่าง ความจริงอย่างที่สุด
คือความว่างอย่างที่สุด เกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย ทั้งหมดทั้งสิ้น เห็นได้อย่างนี้นับว่าคุณ
เริ่มทำวิปัสสนาเต็มขั้นแล้ว

บางคนอาจคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีไว้ให้นักเรียนอนุบาลทางวิปัสสนา เพราะฉะนั้นไม่มีทางทำ
วิปัสสนาเต็มขั้นได้แต่ขอบอกว่าแท้จริงคุณจะเป็นนักเรียนอนุบาลวิปัสสนา หรือเป็นนักวิปัสสนาเต็มขั้น
นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้กี่รอบ หรือจะต้องไขว่คว้าหาอ่านหนังสือเล่มอื่นสักกี่เล่ม
เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่จิตของคุณเอง ว่าเห็นกายใจนี้ตามจริงหรือไม่หากเห็นเป็นขณะๆ

อย่างต่อเนื่องว่าทุกสิ่งในกายใจนี้เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาทั้งสิ้น คุณไม่ยึดมั่นถือมั่น
ส่วนใดส่วนหนึ่งทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายนามว่าเป็นตัวตน อุปาทานน้อยลงเรื่อยๆว่านั่นของคุณ นี่
ของคุณ นั่นแหละตัวชี้ชัดว่าคุณเป็นนักวิปัสสนาเต็มตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงจุดนั้นก็จะขอให้หลักเป็นข้อๆไว้สำรวจตนเอง ว่าพฤติกรรมของคุณจะพา
ไปสู่ความเป็นนักวิปัสสนาหรือไม่ เพื่อความสะดวก และไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่าทำมาถูกหรือผิดทาง ก็
ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นเกณฑ์ประกันความมั่นใจ ยิ่ง ‘ใช่’ มากข้อเท่าไหร่ ก็เป็นอันว่าใกล้เคียง
ขึ้นเท่านั้น

๑) เมื่ออยู่ว่างๆ เช่นต้องรอใครนานเป็นชั่วโมง คุณไม่ปล่อยใจไปกับวิมานในอากาศ ไม่ย้อนนึก
ถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่คำนึงนึกล่วงหน้าถึงเรื่องที่ยังรออีกไกล แต่นึกถึงลมหายใจ คุณฝักใฝ่กับลม
หายใจเพราะมันทำให้คุณมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะบังคับตัวเองให้ฝืนทำเพื่อจะได้เป็นนัก
วิปัสสนา

๒) เมื่อมีใครทำให้คุณโกรธ คุณรู้ตามจริงว่ากำลังโกรธ แต่แทนการมองหน้าเขาด้วยตาขุ่น กลับ
มองความโกรธในใจตัวเองด้วยความเป็นกลาง คือไม่คิดเรื่องถูกผิดของเขาหรือของเรา คิดถึงแต่ว่าใจ
เรามีความโกรธ เพื่อเห็นตามจริงว่าภาวะโกรธเหมือนไฟที่ลุกวาบขึ้นแสดงความแปรปรวนให้ดูเล่นอีก
ครั้งเท่านั้นเอง

๓) เมื่อเวลาผ่านไป คุณเริ่มพบว่าตัวเองเฝ้าตามรู้ทุกการเคลื่อนไหว ทุกภาวะอารมณ์ เพื่อเห็น
ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง บังคับบัญชาหรือสั่งคุมให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ แม้กระทั่งขณะขับถ่าย
ปัสสาวะ!

ข้อสังเกตตัวเองหลักๆเหล่านี้พอบอกได้ว่าคุณเริ่มทำวิปัสสนาบ้างแล้ว ต่อไปนี้คือรายละเอียดที่
ลึกลงไป ซึ่งคุณอาจพบว่าเกิดขึ้นเองหลังจากทำวิปัสสนาไปได้พักหนึ่ง

๑) เมื่อเงยหน้ามองเมฆหรือมองดาว แทนที่จะเกิดจินตนาการเพ้อฝันอ่อนหวาน คุณกลับเห็น
แค่ความเบานิ่งสม่ำเสมอของใจ โดยปราศจากความติดใจไยดีรสสุขอันเกิดแต่ความเบานิ่งสม่ำเสมอนั้น
๒) เมื่อเกิดอัตตามานะถือเขาถือเรา เทียบศักดิ์เทียบชั้นแรงๆ แล้วคุณรู้สึกรังเกียจสิ่งที่เกิดขึ้น
ในใจตัวเอง เท่ากับที่คนตาดีเห็นเห็บหมัดสุนัขมากลุ้มรุมเกาะร่างของตนยุ่บยั่บ

๓) เมื่อคุณเห็นข้อเสียของตัวเองเกิดขึ้นจากการคิด การพูด หรือการกระทำใดๆ แล้วทราบชัด
ว่าจิตมีลักษณะเป็นอกุศล เช่นขุ่นเคือง รู้สึกหม่นมืด ในหัวฟุ้งแรง อกใจเร่าร้อน ฯลฯ แล้วเกิดสติสำนึก
ผิดแบบใหม่ คือไม่เศร้าโศกเสียใจหรือโทษตัวเอง แต่เห็นว่าบาปอกุศลเป็นแค่เงาดำเงาหนึ่งที่ปรากฏ
ทาบจิต เพียงรู้ชัดว่าเงาดำนั้นไม่ใช่ตัวคุณ เกิดแล้วต้องสลายตัวเป็นธรรมดา คุณก็เกิดความรู้สึกว่างขึ้น
แทนที่

๔) เมื่อเป็นนักวิปัสสนาไปเรื่อยๆ นับวันความว่างก็ขยายขอบเขตออกกว้างไกลขึ้นทุกที คือเห็น
อาการใดในใจดับลง ใจก็เหมือนมีพื้นที่ว่างมากขึ้นเรื่อยๆ และพลอยมีความสุขที่แปลกประหลาดมากขึ้น
เรื่อยๆ

๕) เมื่อเลิกนิสัยคิดว่าตัวเองรู้ดี รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร หันมาเห็นว่าตนเองไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับ
ตัวเองตามจริงสักเท่าไหร่จนในที่สุดนิสัยใหม่ค่อยๆถูกเพาะขึ้น คือสำรวจตนเองมากกว่าสอดส่อง
ออกไปหาเรื่องของคนอื่นข้างนอก

๖) เมื่อเกิดความกลัว คุณเห็นว่าความกลัวเป็นเพียงอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่ล่อให้นึกว่า ‘มีคุณ’
ที่กำลังจะเป็นผู้เคราะห์ร้าย ต่อเมื่อส่องอย่างใกล้ชิดด้วยวิปัสสนาแล้ว กลับเห็นว่าเหลือแต่ความกลัว หา
ได้มีผู้เคราะห์ร้ายที่ตรงไหนไม่

๗) เมื่อตระหนักว่ายอดสุดแห่งข้อเสียคือความเหม่อลอยไร้สติ

๘) เมื่อรู้สึกว่าอดีตที่ผ่านมาเป็นแค่ความทรงจำ แล้วก็รู้สึกด้วยว่าความทรงจำเปรียบเสมือนแสง
เทียนที่ค่อยๆหรี่ลงสู่ความดับเข้าไปเรื่อยๆด้วย

๙) เมื่อพบว่านิสัยบางอย่างเปลี่ยนไป เช่นจากที่เคยช่างคุยกับตัวเอง หรือกระทั่งรบกับเสียงใน
หัวของตัวเองอย่างหนัก มาพักอยู่กับความสงัดเงียบภายในใจแทน

๑๐) เมื่อมีคนบอกว่าคุณผ่องใส แล้วคุณรู้สึกว่าเขาพูดถึงภาวะผ่องใส ไม่ได้พูดถึงตัวคุณ

๑๑) เมื่อรู้ตามจริงว่าคุณแตกต่างจากคนรอบข้างที่ไม่ได้ภาวนา แต่ไม่เห็นตัวเองแปลกคน
เพราะทุกคนเสมอกันด้วยความเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วต้องเสื่อมสลายลงทั้งสิ้น

๑๒) เมื่อมีใครแนะนำให้คนอื่นรู้จักว่าคุณเป็น "นักวิปัสสนาคนหนึ่ง" ใจคุณนึกปฏิเสธ ไม่รู้สึก
ภาคภูมิใจ ไม่นึกว่าเป็นเกียรติยศ และเห็นว่าแม้การ "เป็นนักวิปัสสนา" ก็ไม่ใช่คุณเอาเลย

 
สรุป
ธรรมะที่ดีที่สุดคือสิ่งที่กำลังปรากฏเด่นต่อสติอยู่เดี๋ยวนี้
สิ่งใดแสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา
เห็นแล้วกระทำจิตให้คลายจากความยึดมั่นเสียได้
สิ่งนั้นน่าสนใจดูยิ่งกว่าสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหมดในโลกรวมกัน



เขียนโดย ดังตฤณ

No comments:

Post a Comment