Thursday, October 22, 2015

ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก (ย่อความจาก “ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก” โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ จากหนังสือ “100 ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๔๓๖-๒๕๓๖”) พระไตรปิฎกคืออะไร ?

ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก
(ย่อความจาก “ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก” โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ จากหนังสือ “100 ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๔๓๖-๒๕๓๖”)
พระไตรปิฎกคืออะไร ?

          ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัลกุรอานของ ศาสนาอิสลาม พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน พระสงฆ์สาวกซึ่งท่องจำไว้ได้ ได้จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เป็นปิฎกต่างๆ หลังจากพระศาสดานิพพานแล้วเพื่อเป็นหลักพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”

          มีหลักฐานกำหนดลงได้ว่าในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฎก” มีแต่คำว่า “ธรรมวินัย” คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้นเกิดขึ้นมาภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว คำว่า พระไตรปิฎก กล่าวโดยรูปศัพท์ แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ+ไตร+ ปิฎก คำว่า “พระ” เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า “ไตร” แปลว่า ๓ คำว่า “ปิฎก” แปลได้ ๒ อย่างคือ แปลว่าคัมภีร์หรือตำนานอย่างหนึ่ง แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่ แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่าเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด หมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของ ฉะนั้น เมื่อทราบแล้วว่า คำว่าพระไตรปิฎกแปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎกนั้นแบ่งออกดังนี้ (๑) วินัยปิฎก - ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี (๒) สุตตันตปิฎก - ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป (๓) อภิธัมมปิฎก - ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ.


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

          พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
          ๑. พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สืบมาจนทุกวันนี้

          ๒. พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่นๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้

           ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็น หลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจานเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมา ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่

           ๔. พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก

           นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ ๔ รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้า ยังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

           เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระอานนท์ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณิยธรรม ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง ๒ ครั้งของพระจุนทเถระนี้คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา


การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?
           การสวดปาฏิโมกข์คือการ “ว่าปากเปล่า” หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย 150 ข้อ ในเบื้องแรก และ 227 ข้อในกาลต่อมาทุกๆ กึ่งเดือนหรือ 15 วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าว ทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก 15 วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด

           การสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า “ร้อยกรอง” คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำสืบต่อๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระ พุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไรแล้วก็ทำการสังคายนา แล้วจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น การสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจ ผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควรแม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิด


ปัญหาเรื่องการนับครั้งในการทำสังคายนา
           ในปัจจุบันนี้ ทางประเทศพม่าถือว่า ตั้งแต่เริ่มแรกมามีการทำสังคายนารวม 6 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 6   พม่าจัดทำเป็นการใหญ่ ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แล้ว ฉลองพร้อมกันทีเดียว แต่ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การสังคายนากล่าวว่า สังคายนามี ๙ ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้ว จารลงในใบลานเป็นหลักฐาน โดยอาศัยหลักฐานจากวินัยปิฎกเล่ม ๗ พร้อมทั้งอรรถกถา จากหนังสือมหาวงศ์ สังคีติยวงศ์ และบทความของท่าน B. Jinahanda ในหนังสือ 2500 Years of Buddhism ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่นๆ อาจรวมการทำ สังคายนาและปัญหาเรื่องการนับครั้งเป็นหัวข้อได้ดังนี้

๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
๓. การนับครั้งสังคายนาของพม่า
๔. การนับครั้งสังคายนาของไทย
๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน


๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
           คือสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งทำในอินเดีย อันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อันเป็นสังคายนาผสม รวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่ ๔ นั้น เพราะการ สืบสายศาสนานั้นแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รับรองคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว นับถือใช้ภาษาบาลี ส่วนของฝ่ายมหายาน หรือศาสนาพุทธแบบที่ญี่ปุ่น จีน ทิเบต ญวนและเกาหลีนับถือ ใช้ภาษาสันสกฤต การสังคายนาครั้งที่ ๑ กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุง ราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน

              การสังคายนาครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนพระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี
           การสังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลี บุตรติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ ปี เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้วก็ ได้ส่งคณะฑูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรส พระเจ้าอโศก มหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก

        การสังคายนาครั้งที่ ๔ เป็นการสังคายนาผสมระหว่างนิกายสัพพัตถิกวาทกับฝ่าย มหายาน กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ณ เมืองชาลันธร แต่หลักฐานเรื่องสถานที่ และรายละเอียดอื่นๆ นั้น ปรากฏหลักฐาน ในที่ต่างๆ ไม่ตรงกัน รวมทั้งเหตุของการสังคายนาด้วย เช่น บางแห่งกล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่เป็นการสังคายนา แต่เป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจัง

๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
           หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระมหินทเถระ ก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘ ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา นับเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา เหตุผลที่ อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น แต่เพราะการสังคายนาครั้งนี้ห่างจาก ครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ประมาณ ๓-๔ ปี บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนาลังกา ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้รับรองการสังคายนาทั้ง ๓ ครั้งแรกใน อินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ เพื่อจารึกพระพุทธวจนะลงใน ใบลาน มีจารึกว่าสังคายนาครั้งนี้กระทำที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท การสังคายนาครั้งนี้ได้ รับการรับรองโดยมติทั่วไป การสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัตนปุระ ในลังกา การ สังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนัก นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง

๓. การนับสังคายนาของพม่า
           การสังคายนาครั้งแรกในพม่า ต่อจากสังคายนาของลังกาที่จารึกลงในใบลาน สังคายนา ครั้งแรกของพม่านี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ณ เมืองมันดเล ด้วย การอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ
           สังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ เริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๗ และ สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยปิดงานร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ การสังคายนาครั้งนี้มุ่ง พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถาและคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ เมื่อเสร็จแล้ว ได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

๔. การนับสังคายนาของไทย
           การสังคายนาในประเทศไทยซึ่งเรานับว่าเป็นครั้งที่ ๘ ในประวัติการสังคายนานั้น กระทำ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ โดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลาย ร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เป็นเวลา ๑ ปี
           การสังคายนาครั้งที่ ๙ หรือครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนาพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ชำระพระไตรปิฎกสำเร็จใน ๕ เดือน

๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน
           ตามหนังสือพุทธประวัติและประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของทิเบต ซึ่งชาวต่าง ประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษสรุปได้ว่า ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนา ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ ในอินเดียตามที่ได้กล่าวมาแล้วร่วมกัน โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของเถรวาท เมื่อเกิดมีปัญหาว่าคัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร ก็ มักจะมีคำตอบว่า มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนาซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละสายกับฝ่ายเถรวาท ซึ่งมักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งทำสังคายนาแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ

           ๑. เมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปเป็นประธาน กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์นั้น มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือก ให้กระทำหน้าที่สังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสสปเป็นประธาน ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วน หนึ่ง เรียกว่า สังคายนานอกถ้ำ และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีก อย่างหนึ่งว่า สังคายนามหาสังฆิกะ คือของสงฆ์หมู่ใหญ่ แต่หลักฐานของการสังคายนา “นอกถ้ำ” ครั้งที่ ๑ นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งที่ ๒ หรือนัยหนึ่ง เอาเหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ

           ๒. การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อภิกษุวัชชีบุตร ถือวินัยย่อหย่อน ๑๐ ประการ และพระยสะ กากัณฑกบุตร ได้ชักชวนคณะสงฆ์มาร่วมกันทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน พวกภิกษุวัชชีบุตร ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของ ตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ คือ มหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกาย มหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยก จากฝ่ายเถรวาท มาเป็นมหายานในกาลต่อมา



No comments:

Post a Comment